1.2 .ประวัติความเป็นมาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

สวัสดีและเจริญพร นศ.วิชาธัมมจักฯทุกท่าน

       คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 1 มัชฌิมาปฏิปทา เป็นอย่างไร ? 

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร 

จุดประสงค์ บทสวดมนต์ต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากบทสวดสรรเสริญพรรณนาคุณของพระรัตนตรัย ตามที่เรารู้จักกันแล้ว บางบทก็ได้แสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน 

      ก็เพื่อทำให้ผู้คนในภายหลัง จดจำพระธรรมเทศนาผ่านบทสวดมนต์ ที่สวดอยู่เป็นประจำ เป็นการธำรงค์รักษาคำสอน ในอีกรูปแบบหนึ่งไปในตัว ทุกครั้งที่ได้สวดมนต์บทที่เป็นพระธรรมเทศนา จึงเป็นเหมือนกับการได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต่อหน้าพระพักตร์ ได้รับฟังคำสอนของพระองค์ที่เคยตรัสสอนไว้แล้ว เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล จึงนับเป็นบุญกุศลใหญ่ที่เราได้สวดมนต์สาธยายคำสอนของพระพุทธเจ้า และช่วยรักษาคำสอนของพระองค์ ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา ยิ่งถ้าเราเข้าใจความหมายก็จะยิ่งทำให้เราได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทุกครั้ง ที่เราได้สวดด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดความเข้าใจในธรรมมากยิ่งขึ้น สามารถแนะนำธรรมะที่เรารู้แก่ผู้อื่นได้

      ในบรรดาพระธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นพระธรรมเทศนาบทแรกของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสสอนเหล่าปัญจวัคคีย์ในวันอาสาฬหบูชา มีใจความแสดงถึงความจริงสูงสุดของ​สังสารวัฏ​ และแนวทางไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง เป็นแม่บทของคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ขีดเส้นแนวทางการปฏิบัติตนไปสู่พระนิพพาน ถูกรจนาด้วยภาษาบาลี และกลายเป็นบทสวดมนต์บทหนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน 

      ดังนั้นจึงควรที่เราจะได้ศึกษาคำแปล และความหมายของพระธรรมเทศนาที่สำคัญยิ่งนี้ไว้ อันจะเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ ว่าปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้านั้นมีเนื้อหาอย่างไร? เหตุไฉนพระสูตรนี้จึงได้กล่าวกันว่า เป็นแม่บทในพระพุทธศาสนา? เมื่อเราศึกษาจนเข้าใจดีแล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจธรรมะในพระพุทธศาสนาได้ดียิ่งขึ้น และปฏิบัติตนไม่คลาดเคลื่อนไปจากมรรคผลนิพพาน เมื่อใดสวดบทธรรมจักรนี้ ก็จะเข้าใจในเนื้อหาธรรมะ เพิ่มพูนปัญญาแก่ตนเองสืบไป...  

อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 1 มัชฌิมาปฏิปทาทางสายกลางที่ควรดำเนินไป 

       "เอวัมเม สุตัง" “ข้าพเจ้าได้สดับมา อย่างนี้” 

       "เอกัง สะมะยัง ภะคะวา" "สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า" 

      "พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเย ฯ" "เสด็จประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี" 

      "ตัตระ โข ภะคะวา ปัญจะวัคคิเย ภิกขู อามันเตสิ ฯ" "ในกาลนั้นแลพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนพระปัญญจวัคคีย์อย่างนี้ว่า"   

       เริ่มต้นธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จะขึ้นต้นว่า "เอวัมเม สุตัง" มีคำแปลว่า "ข้าพเจ้า ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้" ผู้กล่าวนี้ก็คือท่านพระอานนท์ ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า นอกจากท่านจะทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านยังเป็นผู้ทรงจำพุทธพจน์ทุกบทของพระพุทธเจ้า ได้อย่างแม่นยำ เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านจึงได้รับหน้าที่เป็นผู้วิสัชนาพระสูตร และพระอภิธรรม เป็นผลทำให้พระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสูตร และพระอภิธรรมเกิดขึ้นได้เพราะท่านพระอานนท์นี้เอง 

      หลังจากการเกริ่นนำไว้ ท่านพระอานนท์ก็บอกเล่าถึงช่วงเวลา คำว่า "สมัยหนึ่ง" ที่ว่ามานี้ ก็คือวันอาสาฬหบูชาเดือน 8 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เกือบสองเดือนหลังจากวันวิสาขบูชา เดือน 6 ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ส่วนสถานที่ที่พระองค์แสดงธรรมก็คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งอยู่ใกล้เมืองพาราณสี     

Complete and Continue