5.6 สาเหตุแห่งความเสื่อมของมนุษย์

5.6 สาเหตุแห่งความเสื่อมของมนุษย์

   จากความเสื่อมที่เกิดขึ้นโดยลำดับนี้ จะเห็นว่า ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์ คือ เกิดจากการกระทำ ของมนุษย์ทั้งสิ้น และผู้ที่รับผลของการกระทำมากที่สุดก็คือมนุษย์เช่นกัน ที่เป็นทั้งนี้เพราะมนุษย์ต่างก็มีกิเลส ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างแต่ว่ามีมากหรือน้อย ทั้งนี้ก็อยู่ที่ว่าใครจะรู้หรือไม่รู้ และเมื่อรู้แล้วคิดที่จะขจัดมันออกไป หรือเปล่า ถ้าไม่ขจัดมันออกไปตัวเราก็เหมือนหุ่นที่ถูกเชิดตลอดเวลา ซึ่งถ้ากิเลสมีมาก เราก็ไม่สามารถจะควบคุมตัวเราเองได้เลย จะทำอะไรก็ถูกกิเลสชักนำบังคับให้ทำ ด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลงและเนื่องจากมนุษย์ถูกกิเลสควบคุมนี้เอง จึงทำในสิ่งที่เป็นอกุศล

เมื่อทำในสิ่งที่เป็นอกุศล ความเสื่อมจึงเกิดขึ้น และขยายผลตามลำดับ ซึ่งจากลำดับเหตุการณ์ของความเสื่อมที่เกิดขึ้นดังปรากฏในจักกวัตติสูตรที่นำเสนอไปนั้น เราสามารถเห็นลำดับของอกุศลธรรมที่มนุษย์ได้กระทำ จนเป็นเหตุให้โลก และตัวมนุษย์เองเสื่อมลงตามลำดับดังนี้

    หลังจากที่พระราชามิได้ประพฤติจักกวัตติวัตร ดังที่พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ก่อนๆ เคยกระทำ มา อกุศลกรรมที่มนุษย์กระทำเป็นสิ่งแรกคือ การลักขโมยถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ (อทินนาทาน) อกุศลกรรมต่อมาคือ การฆ่าชีวิตผู้อื่น (ปาณาติบาต) การกล่าวคำเท็จ (มุสาวาท) กล่าวคำส่อเสียด (ปิสุณาวาจา) การประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร) การกล่าวคำหยาบคาย (ผรุสวาจา) และคำเพ้อเจ้อ (สัมผัปปลาปะ) เกิดความคิดอภิชฌาและมีความพยาบาท จนในที่สุดมีความคิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ

   นอกจากจะประพฤติสิ่งที่เป็นอกุศลธรรมทั้ง 10 ประการแล้ว สิ่งที่มนุษย์กระทำต่อไปก็คือ มีความกำหนัดในราคะอันไม่ชอบธรรม (อธรรมราคะ) ความโลภไม่เลือก (วิสมโลภะ) ความกำหนัดด้วย อำนาจความพอใจผิดธรรมดา (มิจฉาธรรม) เมื่อธรรม 3 ประการนี้แพร่หลาย มนุษย์จึงพากันไม่ปฏิบัติ ชอบในมารดา บิดา สมณะ พราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลจนกระทั่งในช่วงที่มนุษย์มีอายุขัย 10 ปี มนุษย์จะไม่มีจิตคิดเคารพยำเกรงในบิดา มารดา ผู้เป็นญาติ ตลอดจนครูอาจารย์ ต่างสมสู่ปะปนกันดุจอาการของสัตว์ดิรัจฉาน และท้ายที่สุดต่างก็อาฆาตพยาบาท ลงมือเข่นฆ่ากันไม่เลือกว่าเป็น

ผู้ใดจากสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำ จนเป็นสาเหตุให้โลกและสังคมมนุษย์เสื่อมลงตามลำดับนั้น เป็นเพราะมนุษย์ประพฤติในสิ่งที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า อกุศลกรรมบถ ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ โดยที่อกุศลกรรมนี้ เป็นทางแห่งความชั่ว เป็นทางที่นำไปสู่ความเสื่อม ความทุกข์ และทุคติ ซึ่งอกุศลกรรมบถ 10 นี้ จัดการกระทำออกเป็น 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

อกุศลกรรมที่กระทำทางกายเรียกว่า กายกรรม มี 3 ประการ ประกอบด้วย

  1. ปาณาติบาต การทำให้ชีวิตสิ้นไป ทั้งมนุษย์ สัตว์ และรวมทั้งตัวเราเอง
  2. อทินนาทาน การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยอาการของขโมยลักทรัพย์
  3. กาเมสุมิจฉาจาร การประพฤติผิดในกาม (นอกใจคู่ครองของตน ล่วงละเมิดในบุตรภรรยา สามีของผู้อื่น

อกุศลกรรมที่กระทำทางวาจาเรียกว่า วจีกรรม มี 4 ประการ ประกอบด้วย

  1. มุสาวาท การพูดเท็จ
  2. ปิสุณาวาจา การกล่าววาจาส่อเสียด
  3. ผรุสวาจา การกล่าววาจาหยาบคาย
  4. สัมผัปปลาปะ การกล่าววาจาเพ้อเจ้อ

อกุศลกรรมที่กระทำทางใจเรียกว่า มโนกรรม มี 3 ประการ ประกอบด้วย

  1. อภิชฌา ความคิดเพ่งเล็งอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น
  2. พยาบาท ความคิดที่จะทำร้ายผู้อื่น
  3. มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

ซึ่งการเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ หรือมีความเห็นผิดไปจากทำนองคลองธรรมนั้น มีอยู่ด้วยกัน 10 ประการ โดยผู้ที่เป็น

มิจฉาทิฏฐิจะมีความคิดเห็นดังต่อไปนี้ คือ

  1. ทานที่ให้ไม่มีผล
  2. ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล
  3. การเซ่นสรวงไม่มีผล
  4. ผลของกรรมดีและกรรมชั่วไม่มี
  5. โลกนี้ไม่มี
  6. โลกหน้าไม่มี
  7. มารดาไม่มี
  8. บิดาไม่มี
  9. สัตว์ที่เกิดแบบโอปปาติกะไม่มี
  10. ในโลกนี้ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ จนรู้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเองแล้วประกาศ โลกนี้โลกหน้า

   การที่มนุษย์มีมิจฉาทิฏฐินี้เอง ซึ่งถือว่าเป็นการปิดประตูกันกุศลธรรมทั้งปวง จึงทำให้มนุษย์กระทำในสิ่งที่เลวร้ายลงไปยิ่งขึ้น ได้แก่ มีความกำหนัดในฐานะอันไม่ชอบธรรม ความโลภไม่เลือกความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจผิดธรรมดา การไม่ปฏิบัติชอบในมารดา บิดา ในสมณพราหมณ์ การ ไม่อ่อนน้อม ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล ตลอดจนการไม่มีจิตคิดยำเกรงในบุคคลผู้เป็นบุพการีและท่านผู้มีพระคุณ ทั้งหลาย จนกระทั่งเกิดการสมสู่กันไม่เลือกว่าเป็นใคร และเข่นฆ่ากันไม่เลือกหน้าดังที่กล่าวมาแล้ว

   ทั้งนี้เป็นเพราะว่า มิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมี 10 ประการดังกล่าวนั้น ย่อมทำให้มนุษย์ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ตลอด จนไม่เชื่อเรื่องการทำความดี การแบ่งปันช่วยเหลือกัน การให้ผลของบุญและบาป โลกนี้โลกหน้า ชีวิตหลัง ความตาย ผู้มีพระคุณ ผู้มีความบริสุทธิ์ ฯลฯ เมื่อไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ จึงไม่กลัวผลที่จะได้รับตามมา จึงทำอะไรด้วยอำนาจของกิเลส คือ ทำสิ่งต่างๆ ด้วยความโลภ ความโกรธ และความหลง โดยที่ไม่มีการ ไตร่ตรองพิจารณาให้ถี่ถ้วน ทั้งนี้เป็นเพราะปัญญาได้ถูกความเป็นมิจฉาทิฏฐิบดบังจนหมดสิ้นแล้ว การกระทำต่างๆ จึงทำด้วยอำนาจของตัณหา ของความอยาก เมื่อเป็นดังนี้มนุษย์และสรรพสิ่งจึงเสื่อมลงในที่สุด

ตารางแสดงความเสื่อมของมนุษย์

Complete and Continue