5.8 ประโยชน์ของการเข้าใจเรื่องความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์

5.8 ประโยชน์ของการเข้าใจเรื่องความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์

     เนื่องจากโลกได้หล่อหลอมให้มนุษย์คิดพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้ความเจริญทางด้านวัตถุส่งผลต่อชีวิตมากขึ้น แต่ทางด้านจิตใจกลับเสื่อมลง ซึ่งจะเห็นได้จากการทำผิดศีลธรรมอย่างรุนแรงในสังคมแต่กลับ ถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เช่นการชักชวนเพื่อนไปดื่มสุราอย่างเปิดเผย แต่การไปวัดต้องแอบไป ไม่กล้าชวนคนทำความดี ดังนั้นจากการศึกษาเรื่อประโยชน์ของความเจริญและความเสื่อมของมนุษย์ ย่อมสามารถช่วยให้เราเกิดสติปัญญาสอนตัวเองให้เลือกสร้าง

ความเจริญในปัจจุบันให้ดีที่สุด กล่าวคือ

  1. ทุกคนต้องรีบทำแต่กรรมดีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพราะการเกิดมามีโชคดีในชาตินี้ เนื่องจากกรรมในอดีตส่งผล ก็พึงคิดว่าผลของกรรมดีมีวันสิ้นสุด ดังนั้นเราจึงต้องเร่งสร้างกรรมดีให้เจริญมากที่สุด เพื่อติดเป็นนิสัยไปทุกภพทุกชาติ และอีกประการเวลาในการสร้างความเจริญให้แก่ชีวิตของเรามีจำนวนจำกัด
  2. ต้องไม่ก่อกรรมชั่วใหม่อย่างเด็ดขาด เพราะตระหนักถึงผลร้ายนานาชนิดที่จะติดตามมาทั้งแก่ตนเอง เพื่อนร่วมโลก และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ
  3. ต้องไม่อยู่เฉยๆ โดยไม่สร้างกรรมดีอะไรเลย พึงระลึกเสมอว่าการอยู่เฉยๆ นอกจากไม่มีกำไรแล้ว ยังเป็นการเอาต้นทุนเก่ามาใช้ ซึ่งมีแต่จะหมดไปทุกวัน
  4. ต้องใช้ร่างกายอันเป็นที่อาศัยของใจให้คุ้มค่ามากที่สุด แม้ว่าร่างกายจะสมบูรณ์มาก หรือไม่ค่อยสมบูรณ์ก็ตาม ยังสามารถใช้สร้างกรรมดีได้อย่างมากมาย ต่างกับร่างกายของสัตว์ดิรัจฉาน แม้จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่ก็ยากที่จะใช้สร้างความดีให้กับตัวเองได้

จากการศึกษาเรื่องความเจริญและความเสื่อมอย่างถ่องแท้ แล้วตั้งใจทำความดีอย่างเต็มกำลัง เพื่อพัฒนาความเจริญทางกายกับทางใจ ให้ไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของมนุษย์ คือ ทำพระนิพพานให้แจ้งมนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ มีอวิชชาครอบงำอยู่ตั้งแต่เกิด ทำให้ลืมเรื่องราวว่าก่อนจะมาเกิดเรามาจากไหน ทำไมถึงมาเกิดอยู่ในโลกนี้ได้ และเมื่อตายแล้วจะไปอยู่ที่ไหน เรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่ง ที่ค้างอยู่ในใจของมนุษย์ทุกยุค ทุกสมัย ตราบเท่าที่ยังไม่เจอผู้รู้ที่แท้จริงที่จักนำพาให้พ้นจากความทุกข์ในวัฏสงสาร แต่เมื่อได้เจอกัลยาณมิตรผู้ประเสริฐที่สุดในโลกคือพระพุทธเจ้า เมื่อนั้นก็จักสามารถรู้เป้าหมาย ชีวิตที่แท้จริง โดยผ่านคำสอนของพระองค์ และถึงแม้ว่าในยุคนี้เราจะเกิดมาไม่ทันพระองค์ แต่เราก็ได้เกิดมา ทันเจอคำสอนของพระพุทธองค์ และได้เกิดมาในยุคที่พระพุทธศาสนายังคงอยู่ในโลก ซึ่งมีพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาเผยแผ่ธรรมะให้โลกรู้ ถึงคุณลักษณะของกัลยาณมิตรผู้เป็นต้นแบบ ของความเจริญ มาเปรียบเทียบกับลักษณะของคนพาลที่เป็นทางมาแห่งความเสื่อม โดยได้เปรียบเทียบไว้ หลายพระสูตรดังต่อไปนี้

ตารางเปรียบเทียบลักษณะของคนพาลและบัณฑิต


จากตาราง เราพอจะสรุปได้ว่าผลของความเสื่อมและความเจริญ อยู่ที่การกระทำของแต่ละบุคคล และส่วนที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ กัลยาณมิตร ผู้รู้เป้าหมายชีวิตว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ดังนั้นเราจึงควรทำความเพียรให้เกิดขึ้นดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกลักษณะของความเพียรไว้ 4 ประการ ดังต่อไปนี้10)

  1. เพียรระวังอกุศลธรรมอันเป็นบาปที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
  2. เพียรละอกุศลธรรมอันเป็นบาป ให้หมดไป
  3. เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น
  4. เพียรยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งขึ้น

เนื่องจากเราจำเป็นจะต้องเกิดมาอีกหลายชาติเพื่อมาสร้างบารมีทั้ง 30 ทัศให้เต็มเปี่ยม ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษาเรื่องโลกและชีวิตให้ลึกซึ้ง เนื่องจากระยะเวลาการตั้งขึ้นของโลก มีช่วงเวลาที่ยาวมาก แต่ช่วงเวลาที่มนุษย์สามารถลงมาสร้างบารมีมีเพียงแค่ 1 ใน 4 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีอยู่อย่าง จำกัด

สรุป

      เป้าหมายของชีวิตมนุษย์คือการเกิดมาสร้างบารมี เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ซึ่งเป็นธรรมที่ประกอบแต่กรรมดี เป็นกุศลกรรมนำไปสู่ความเจริญของชีวิต แต่เมื่อใดที่มนุษย์หลงลืมเป้าหมายชีวิต การกระทำต่างๆ เบี่ยงเบนเป็นไปทางธรรมฝ่ายบาป เรียกว่า อกุศลกรรม เป็นการประกอบแต่กรรมชั่วนำไปสู่เส้นทางแห่งความเสื่อม เป็นเหตุให้ติดอยู่ในวัฏสงสารอันยาวนาน

      จากการที่ได้ศึกษาความรู้ในพระพุทธศาสนา ทำให้เราทราบว่า ในช่วงที่ผ่านมาในอดีต ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเสด็จเข้าพระนิพพานตั้งแต่พระองค์แรกและองค์ต่อมาจนมากกว่าเมล็ดทรายในท้องมหาสมุทร และพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันของพวกเรา พระองค์ก็เสด็จปรินิพพานนานกว่า 2,500 ปีแล้วแต่ทั้งที่เป็นเช่นนี้ แล้วเหตุใดเราจึงยังตกค้างอยู่ในวัฏสงสาร ยังไม่ไปไหน พอจะสรุปได้ว่า เพราะสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) ในใจเรายังไม่มั่นคงพอ และเมื่อมีเหตุหลายอย่างที่ทำให้เราลืม เช่น การเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เมื่อเราเผลอไปทำบาป โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้ร่างกายมนุษย์เสื่อมลง อายุก็ลดน้อยลง ผิวพรรณวรรณะก็เสื่อมเมื่อตายแล้วก็ต้องไปชดใช้กรรมในอบาย เพื่อรับผลที่ตนเองทำมาอย่างยาวนาน และกว่าจะมาเกิดเป็นมนุษย์อีกก็เป็นการยากมากๆ เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว เศษกรรมที่เคยทำมายังตามขัดขวางมิให้ทำความดีได้โดยง่าย บังคับให้ต้อง ยากจนโง่ เจ็บ และตายเร็วกว่าอายุขัยของมนุษย์ในยุคนั้นๆ ต่อเมื่อ มีโอกาสพบกัลยาณมิตร ได้มาปลูกฝังสัมมาทิฏฐิให้เข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง ทำให้เมื่อมีเหตุการณ์เลวร้าย เกิดขึ้น ก็ยังมีสติตั้งมั่นในการทำความดีสืบต่อไปอย่างไม่หวั่นไหว

ดังนั้น เมื่อเราโชคดีที่ได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต ตลอดจนได้มาพบกัลยาณมิตร ทำให้เราทราบว่าโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ เราเกิดมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน จึงไม่มีอะไรที่น่ายินดี หรือเพลิดเพลิน ฉะนั้นเราควรที่จะเร่งรีบสั่งสมบุญกุศล สร้างบุญบารมีให้มากๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารที่เราไม่สามารถจะมั่นใจได้ว่าเราจะโชคดีไปทุกชาติอีก


  • 1) จักกวัตติสูตร,ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. ที่ 15 ข้อ 33-50 หน้า 99-123.
  • 2) เป็นคำที่หมายถึงสัตว์จำพวกเก้ง กวาง ละอง ละมั่ง สมัน ทราย ฯลฯ ซึ่งเป็นสัตว์ที่ได้รับความนิยมล่าเพื่อมาทำเป็นอาหาร
  • 3) ลักขณสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิกาย, ทก. เล่ม 34 ข้อ 441 หน้า 5.
  • 4) จินตสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิกาย, มก. เล่ม 34 ข้อ 442 หน้า 7.
  • 5) อัจจยสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อ 443 หน้า 9.
  • 6) อโยนิโสสุตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อที่ 444 หน้า 11.
  • 7) อกุศล, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อ 445 หน้า 14.
  • 8) สาวัชชสูตร, อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต, มก. เล่ม 34 ข้อ 446 หน้า 15.
  • 9) สัพยาปัชชสูตร,อังคุตตรนิกาย ติกนิกาย, มก. เล่ม 34 ข้อ 447 หน้า 15.
  • 10) ปธานสูตร,อังคุตตรนิกาย ติกนิกาย, มก. เล่ม 35 ข้อ 69 หน้า 219.


Complete and Continue