นิพพานคือเป้าหมายชีวิต (17:19)

นิพพานคือเป้าหมายของชีวิต

 

     การดำเนินชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัยในสังสารวัฏ จะต้องรู้เท่าทันอาสวกิเลส รู้ว่าสิ่งไหนเป็นบุญสิ่งไหนเป็นบาปอกุศล แล้วดำรงตนให้อยู่บนเส้นทางแห่งบุญ เส้นทางแห่งความดี ความไม่รู้เป็นอันตรายอย่างยิ่งของชีวิต เพราะถ้าไม่รู้สิ่งเหล่านี้แล้ว อาจทำให้พลาดพลั้งไปทำบาปอกุศล ทำให้ชีวิตมัวหมองได้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องแสวงหาผู้รู้ เข้าไปสอบถามในสิ่งที่สงสัย ที่สำคัญคือต้องหมั่นเข้าไปหาผู้รู้ภายในคือพระรัตนตรัย ด้วยวิธีการหยุดใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แสวงหาความรู้แจ้งที่เกิดจากปัญญาบริสุทธิ์ จะได้เข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน และจะได้รับคำตอบที่ถูกต้องสมบูรณ์ ปัญหาต่างๆ ที่สงสัยก็จะหมดสิ้นไป

* พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทุติยนิพพานสูตร ว่า
                         "ทุทฺทสํ อนตํ นาม        น หิ สจฺจํ สุทสฺสนํ           ปฏิวิทฺธา ตณฺหา ชานโต ปสฺสโต นตฺถิ กิญฺจนํ
    ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยาก ชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ "

     โลกนี้ถูกอวิชชา คือความไม่รู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตห่อหุ้มไว้ เหมือนเวลาที่เดินเข้าไปในห้องมืดๆ ไม่มีแสงสว่างจากภายนอก หรือมีเพียงแสงสลัวๆ ทำให้มองไม่เห็นวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในห้อง ความมืดคืออวิชชาได้ห่อหุ้มจิตใจของมนุษย์ไว้ ปิดบังเห็น จำ คิด รู้ และเอาความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้ามาใส่ ให้หลงใหลเพลิดเพลิน เดินตามทางของพญามาร ที่คอยส่งกิเลสเข้ามาบังคับ เอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น สวมซ้อน ร้อยไส้ ทำให้ต้องเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การจะรู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิตนั้น จึงเป็นไปได้ยากมาก

   อีกประการหนึ่ง การตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย มีภพชาติมาขวางกั้นความทรงจำของเรา ทำให้เราไม่รู้ว่าเกิดมาจากไหน มาทำไม ตายแล้วจะไปไหน ไม่รู้จุดหมายปลายทางของชีวิต เหมือนเวลาที่เราเดินหลงทางในป่าใหญ่ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน หาทางออกไม่พบ ความหลงในชีวิตเป็นอันตรายกว่าหลงทางในป่า เพราะเป็นเหตุให้ต้องทนทุกข์ทรมานในสังสารวัฏอีกยาวนาน โมหะ คือความหลงได้ห่อหุ้มสัตว์โลกเอาไว้ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องสลัดให้หลุด เหมือนออกจากที่มืดไปสู่ที่แจ้ง ไปสู่แสงสว่างแห่งชีวิต

     ส่วนพระอริยสาวก ท่านละโลภะ โทสะ โมหะ และทำลายข่ายแห่งความมืดได้แล้ว จึงมองเห็นพระนิพพาน อวิชชาอันเป็นต้นเหตุแห่งวัฏสงสารได้ถูกตัดขาด ตัดภพตัดชาติ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดกันอีกต่อไป พระอริยเจ้า คือผู้ที่เข้าถึงพระธรรมกาย ตั้งแต่กายธรรมพระโสดาบันเป็นต้นไป ได้เป็นโสดาบันบุคคล เป็นผู้ถึงกระแสพระนิพพาน ตัดขาดจากสังโยชน์เบื้องตํ่า ๓ ประการ ได้แก่สักกายทิฏฐิ คือความเห็นเป็นเหตุให้ถือตัวตน วิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย และสีลัพพตปรามาส คือ การถือมั่นในศีลพรตที่เป็นความเชื่อผิดๆ พระโสดาบันจะกลับมาเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

    พระสกิทาคามี หมายถึง พระอริยเจ้าผู้จะกลับมาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะเข้าสู่นิพพาน ท่านขจัดสังโยชน์เบื้องตํ่า ๓ ประการได้หมด มีศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ ราคะ โทสะ โมหะก็เบาบางลงมาก

     พระอนาคามี คือผู้ที่ไม่ต้องกลับมาสู่โลกนี้อีก สามารถกำจัดกามราคานุสัย ปฏิฆานุสัยได้หมดสิ้น เมื่อละโลกก็จะได้เสวยสุขในพรหมโลกชั้นสุทธาวาสทั้ง ๕ ตามกำลังความแก่อ่อนของอินทรีย์ จากนั้นบำเพ็ญเพียรต่อก็สามารถเข้าถึงอายตนนิพพานได้

   พระอรหันต์ คือผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล สมาธิ(Meditation) ปัญญา กำจัดสังโยชน์เบื้องสูงได้ คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา คือความไม่รู้ในอริยสัจ ๔ ท่านรู้แจ้งแทงตลอดหมด สังโยชน์เบื้องตํ่าเบื้องสูงหลุดหมดชนิดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ ห่างไกลจากอาสวกิเลสทั้งมวล เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน คือดับกิเลสแต่เบญจขันธ์ของท่านยังอยู่ ต่อเมื่อละสังขารไปแล้วก็เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ดับขันธ์ ๕ เหลือแต่ธรรมขันธ์เข้าสู่อายตนนิพพาน ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการทบทวนความรู้ที่หลวงพ่อได้เคยนำมาอธิบายแล้ว เพื่อพวกเราจะได้เข้าใจและจำได้ขึ้นใจกันทุกๆ คน 

    พวกเราต่างมีเป้าหมายที่จะไปรู้ไปเห็นอายตนนิพพานเหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย การจะไปเห็นอายตนนิพพานได้นั้น ใจต้องหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อย่างสมบูรณ์ เพราะตรงนี้เป็นที่เดียวที่จะเป็นต้นทางไปสู่อายตนนิพพาน การหยุดใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จะเปลี่ยนแปลงชีวิตสัตว์โลกทั้งหลายให้เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถเข้าถึงอายตนนิพพาน หลุดพ้นจากการถูกครอบงำจากกิเลสอาสวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรืออวิชชาที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจมาเป็นเวลายาวนาน อาสวะดังกล่าวก็จะถูกขจัดให้หลุดล่อนออกไปหมด ด้วยใจที่หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์

     ถ้าหยุดใจได้สนิท จะยกฐานะจากความเป็นคนมาเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง คำว่า คน แปลว่าผู้ที่ยังวนอยู่ในบ่วงแห่งมาร ทำให้ไม่รู้ไปตามความเป็นจริง มารเอากิเลสเอาอาสวะมาใส่ในใจ แล้วคนให้วนติดอยู่ในบ่วงของมาร คือติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ซึ่งแต่เดิมผู้รู้ท่านก็เป็นผู้ไม่รู้เหมือนอย่างพวกเรา ต่อเมื่อใจหยุดได้ก็เรียกว่า บุคคล หมายถึงผู้พ้นจากอาจมของไม่สะอาด พ้นจากเหยื่อล่อของมารได้ในระดับหนึ่งแล้ว ครั้นใจหยุดได้ถูกส่วนก็จะเปลี่ยนแปลงเป็นโคตรภูบุคคล เป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง จนกระทั่งครอบงำทำลายบ่วงของมารได้มากยิ่งขึ้น ถึงธรรมกายโคตรภูก็เป็นโคตรภูบุคคล

    เมื่อถึงธรรมกายโคตรภูเป็นโคตรภูบุคคล ก็พ้นจากความเป็นมนุษย์ พ้นจากความเป็นทิพย์ รูปพรหม อรูปพรหม ผู้รู้ท่านหยุดใจอย่างนี้เรื่อยๆ ไปตามลำดับ กระทั่งชำระจิตให้บริสุทธิ์ไปเรื่อยๆ ไม่ช้าก็เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลคือผู้เจริญแล้ว หลุดจากกิเลสอาสวะต่างๆ มีความเจริญเต็มที่ เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และหากท่านหยุดในหยุดต่อไปจนกระทั่งจิตสะอาดบริสุทธิ์ ตัดสังโยชน์เบื้องตํ่าเบื้องสูงได้ อนุสัยกิเลสหลุดหมด ก็เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เสวยวิมุตติสุขล้วนๆ ที่ไม่มีทุกข์เจือปนเลย

    หนทางแห่งความบริสุทธิ์ที่จะไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า ไปในทางสายกลาง ซึ่งเป็นหนทางแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ถ้าหากว่าเอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ที่ฐานที่ ๗ ตรงนี้แล้ว ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน จะเดิน ก็จะมีความสุข มีใจเบิกบาน เราก็จะเปลี่ยนจากความเป็นคนเป็นมนุษย์ มาเป็นโคตรภูบุคคล เข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกาย กระทั่งเราเป็นธรรมกาย ธรรมกายเป็นเรา ถ้าเป็นอย่างนี้ได้แล้ว จะเห็นพระนิพพานได้

    เพราะฉะนั้นพระนิพพานไม่ใช่เห็นกันง่ายๆ ต้องเข้าถึงธรรมกาย และการที่จะเข้าถึงพระธรรมกายได้ ใจต้องสะอาดบริสุทธิ์ เห็นกายในกายเข้าไปเรื่อยๆ ตามลำดับจนกระทั่งเข้าถึงกายธรรม กายสุดท้ายคือกายธรรมอรหัต ถึงกายธรรมอรหัตได้เมื่อไรก็จะเห็นและรู้จักพระนิพพานว่าเป็นอย่างไร ไม่ต้องเสียเวลามาอธิบายกัน เห็นแล้วก็จะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ใจมีธรรมปีติเกิดขึ้น จะรู้แจ้งเห็นจริงในชีวิตและในสรรพสิ่งทั้งหลาย แล้วเป้าหมายชีวิตก็จะชัดเจนขึ้นว่า ต้องมุ่งไปสู่อายตนนิพพาน ต้องทำพระนิพพานให้แจ้ง

    เมื่อเรารู้ว่า พระนิพพานคือเป้าหมายของชีวิต เราต้องรีบแสวงหาพระนิพพาน ในขณะที่เรายังอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว ในขณะที่หูตายังดี อวัยวะต่างๆ ยังแข็งแรง เพราะถ้ารอทำความเพียรตอนแก่ หนทางไปสู่อายตนนิพพานก็ห่างไกลออกไปอีก ถ้าเรายังหนุ่มกำลังวังชายังแข็งแรงอยู่ เราจะได้ใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างบารมี อย่างนี้ถึงจะถูกหลักธรรมของบัณฑิตนักปราชญ์ผู้ไม่ประมาทในชีวิต ฉะนั้นให้รีบประพฤติปฏิบัติธรรมตักตวงบุญบารมีของเราให้ได้เต็มที่ แล้วเราจะจากโลกนี้ไปอย่างผู้มีชัยชนะ

     แม้ว่าพวกเรายังไปสู่อายตนนิพพานไม่ได้ เราก็จะมีที่พักกลางทางที่แสนสุข คือมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่พักชั่วคราวระหว่างการสร้างบารมี ครั้นถึงเวลาก็ลงมาเกิดสร้างบารมีกันอีกในมนุษยโลก ดังนั้นให้พวกเราทุกคน ใช้วันเวลาที่ผ่านไปให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้ได้ทุกๆ วัน จนกว่าจะได้เข้าถึงพระธรรมกาย มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่งที่ระลึกกันทุกๆ คน


Complete and Continue