7.2 โสดาบันโลกุตรภูมิ (17:55)

โสดาบันโลกุตรภูมิ

 ภูมิของพระโสดาบัน เป็นโลกุตรภูมิชั้นต้น เป็น 1 ใน 4 ของโลกุตรภูมิ  

พระโสดาบันผู้ถึงกระแสพระนิพพานหลุดพ้นจากภพภูมิทั้ง 3  

7.2.1 ความหมายของโสดาบันโลกุตรภูมิ   

โสดาบันโลกุตรภูมิ คือ ภูมิที่พ้นจากภพ 3 ของผู้ถึงกระแสพระนิพพาน เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้น พระโสดาบันเป็นสัทธานุจารี จะมีความเลื่อมใสแบบไม่สงสัยในพระรัตนตรัย และศีลไม่ขาดตลอดไป จัดเป็นทักขิไณยบุคคลหนึ่งใน 8 จำพวก  

    ในภาคปฏิบัติของการเจริญภาวนาเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ขยายความในส่วนนี้ว่า หมายถึง ภาวะที่เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายโสดาบัน ซึ่งมี อยู่ภายในกลางกายของทุกคน  

7.2.2 คุณวิเศษของพระโสดาบัน 

    เราจะเห็นว่า ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันเป็นจำนวนมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ แล้วใช้อะไรเป็นหลักในการตรวจสอบว่า คนนั้นบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เขาวัดกันที่การขจัดกิเลสอาสวะให้หมดไปจากใจ ซึ่งพระโสดาบันสามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ 3 ชนิด1 คือ  

  1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่น เห็นรูปเป็นตน เห็นเวทนาเป็นตน  
  2. วิจิกิจฉา คือ ความสงสัยในพระรัตนตรัย และในกุศลธรรมทั้งหลาย  
  3. สีลัพพตปรามาส คือ ความยึดมั่นในข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ที่เข้าใจว่าเป็นข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์หลุดพ้น เช่น การประพฤติวัตรอย่างโค การนอนบนหนามของพวกโยคี เป็นต้น  

7.2.3 ประเภทของพระโสดาบัน 

    ดังที่กล่าวมาแล้วพระโสดาบันสามารถละสังโยชน์ 3 ประการ ตัดขาดออกจากใจได้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษนั้น แม้ว่าจะตัดสังโยชน์ได้เพียง 3 ประการก็ตาม แต่ก็สามารถตัดเส้นทางในการเวียนว่ายตายเกิดให้สั้นลงได้อีกด้วย เพราะผู้เป็นโสดาบันบุคคลมีกฎตายตัวว่า ย่อมเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของพระโสดาบันได้เป็น 3 ประเภท2 ดังนี้  

  • ประเภทที่ 1 เอกพีชีโสดาบัน จะเกิดเพียงชาติเดียว เป็นผู้เที่ยงแท้ต่อการเสวยวิมุตติสุขในอายตนนิพพานมากที่สุด เพราะเมื่อมาเกิดแล้ว ลงมือปฏิบัติธรรมก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นพระอริยบุคคลที่สูงสุดในพระพุทธศาสนา  
  • ประเภทที่ 2 โกลังโกลโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคลที่มีความพิเศษรองลงมา คือ จะมาเกิดอีกเพียง 2-3 ชาติเท่านั้น แล้วจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์  
  • ประเภทที่ 3 สัตตักขัตตุปรมโสดาบัน คือ เป็นพระอริยบุคคล ที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกไม่เกิน 7 ชาติ ก็จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป  

    การที่พระโสดาบัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังที่กล่าวมา เพราะว่าการสั่งสมบุญบารมี อีกทั้งอินทรีย์ 5 ที่อบรมมาแตกต่างกัน เช่น ผู้ที่สร้างบารมีมาอย่างแก่กล้า เกิดในภพชาตินี้ เมื่ออินทรีย์ทั้ง 5 ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ(Meditation) และปัญญา ถึงความแก่รอบสม่ำเสมอ ก็สามารถบรรลุผลได้อย่างรวดเร็ว พระโสดาบันประเภทนี้ คือ ประเภทเอกพีชีดังกล่าว  

ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันมากมายทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์  

7.2.4 พระโสดาบันผู้ท่องอยู่ใน 2 โลก 

    พระโสดาบัน เป็นผู้ที่ฝึกฝนตนเองได้เป็นอย่างดี สั่งสมบุญบารมีจนสามารถตัดกิเลสได้ 3 ประการ จนมีกิเลสเบาบาง เป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา คือ ไม่ต้องไปเกิดในอบายอีกต่อไป เป็นผู้ปิดอบายได้โดยเด็ดขาด เพราะจิตจะมีความผ่องใสตลอดเวลา ถ้าไม่เกิดเป็นมนุษย์อีก ก็จะไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งอย่างแน่นอน และมีทิพยสมบัติ วิมาน บริวารอันอลังการ เป็นสหายแห่งเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ มีคำอ้างอิงในโมคคัลลานสูตร3 ถึงการที่พระโสดาบันย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ซึ่งสรุปย่อ ดังนี้  

    พระโมคคัลลานะได้ไปยังวิมานของติสสมหาพรหม อดีตเป็นพระภิกษุผู้บรรลุฌาน เมื่อละสังขารแล้วจึงไปเกิดเป็นพรหม พระโมคคัลลานะได้สอบถามติสสมหาพรหมว่า  

    “ ในบรรดาเทวดาที่ท่านรู้จักเทวดาชั้นใดที่เป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน ซึ่งมีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา และเป็นผู้ที่เที่ยงแท้ว่าจะตรัสรู้ในเบื้องหน้า”  
ติสสมหาพรหมตอบว่า  
    “ ข้าพเจ้าเห็นว่า เทวดาที่มีคุณวิเศษ ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันนั้น มีอยู่ในสวรรค์ทุกชั้น ตั้งแต่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงปรนิมมิตวสวัตตี เทวดาเหล่านี้ ย่อมเป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้จะตรัสรู้ในเบื้องหน้าทั้งนั้น”  

    จากบทสนทนาจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นพระโสดาบันนั้น จะเกิดในสวรรค์ทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นที่ 1 จนถึง ชั้นที่ 6 เป็นผู้ไม่ตกต่ำ และจะต้องบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน เมื่อเกิดบนสวรรค์ แล้วอย่างไรก็ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อจะบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงต่อไป หรืออาจจะบรรลุบนสวรรค์ก็ได้เช่นกัน 

  • 1 สังคีติสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏกวรรค, มก. เล่ม 16 ข้อ 284 หน้า 201.
  • 2 เอกาภิญญาสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 ข้อ 900 หน้า 32.
  • 3 โมคคัลลานสูตร, อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, มก. เล่ม 36 ข้อ 305 หน้า 619. 

Complete and Continue