7.5 อรหัตโลกุตรภูมิ (17:15)

อรหัตโลกุตรภูมิ

 

 อรหัตโลกุตรภูมิ ภูมิของพระอรหันต์

   

     ภูมิของพระอรหันต์เป็นโลกุตรภูมิลำดับสุดท้าย อันเป็นภูมิขั้นสูงสุดของโลกุตรภูมิ ซึ่งจะต้องเจริญภาวนาผ่านโลกุตรภูมิทั้ง 3 ขั้นข้างต้นมาก่อน จึงจะเข้าถึงภาวะแห่งความเป็นพระอรหันต์ได้ ผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต้องเป็นผู้มีปัญญาอันยอดเยี่ยม สามารถประหารกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปได้ และ ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จะได้รับการยกย่องบูชาอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ทั้ง กาย วาจา ใจ ในพระพุทธศาสนาแล้ว

7.5.1 ความหมายของอรหัตโลกุตรภูมิ

    อรหัตโลกุตรภูมิ คือ ภูมิที่พ้นจากภพ 3 ของผู้ควรแก่การบูชา หมายความว่า ผู้ที่เข้าถึงภูมินี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ เป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด ในพระพุทธศาสนา เป็นผู้ควรแก่การบูชา  

     ในภาคปฏิบัติ การเจริญภาวนาเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ขยายความในส่วนนี้ว่า หมายถึง ภาวะที่เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายอรหัต ซึ่งมีอยู่ภายในกลางกายของทุกคน 

7.5.2 คุณวิเศษของพระอรหันต์  

   พระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีคุณธรรมและคุณวิเศษ สามารถกำจัดกิเลสที่ยังเหลือติดอยู่ในสันดานได้หมด และสามารถละสังโยชน์เบื้องสูงอีก 5 ชนิด คือ

  • 1. รูปราคะ คือ ความพอใจในรูปฌานหรือรูปภพ
  • 2. อรูปราคะ คือ ความพอใจในอรูปฌานหรืออรูปภพ
  • 3. มานะ คือ ความถือตัว
  • 4. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านแห่งจิต
  • 5. อวิชชา คือ ความไม่รู้สภาพความเป็นจริงของธรรม 

     ดังนั้น คุณวิเศษของพระอรหันต์ คือ สามารถละสังโยชน์เบื้องต่ำ สังโยชน์เบื้องสูงได้หมดสิ้นไม่เหลือเศษ เป็นพระอริยบุคคลที่ควรบูชาอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา

7.5.3 ประเภทของพระอรหันต์

  พระอรหันต์ผู้เป็นอริยบุคคลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 

  • ประเภทที่ 1 เจโตวิมุตติ คือ การหลุดพ้นจากกิเลส ด้วยอำนาจสมถะนำหน้าในการบรรลุธรรม
  • ประเภทที่ 2 ปัญญาวิมุตติ คือ การหลุดพ้นจากกิเลส ด้วยอำนาจวิปัสสนานำหน้าในการบรรลุธรรม

  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมต่อพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล

สมดังพุทธวจนะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ใน มหามาลุงกยโอวาทสูตร1 ว่า  

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามรรคนี้ ปฏิปทานี้ ย่อมเป็นไปเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 เมื่อเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุไร ภิกษุบางพวกในพระศาสนานี้ จึงเป็นเจโตวิมุตติ บางพวกเป็นปัญญาวิมุตติเล่า. ”  
“ ดูก่อนอานนท์ ในเรื่องนี้ เรากล่าวความต่างกันแห่งอินทรีย์ ของภิกษุเหล่านั้น”  

    จากพระสูตรนี้ แสดงให้ทราบถึงขั้นตอนของการบรรลุธรรมของพระอรหันต์ 2 ประเภท ต้องผ่านขั้นตอนของการทำสมถะในที่นี้คือ รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 3 เหมือนกัน แต่ที่จัดเป็น 2 ประเภทเพราะความต่างกันแห่งอินทรีย์ทั้ง 2 คือ เจโตวิมุตติอรหันต์ อาศัยสมาธิ(Meditation)นทรีย์เป็นตัวนำในการกำจัดราคะ ส่วนปัญญาวิมุตติอรหันต์ อาศัยปัญญินทรีย์ที่แก่กล้าเป็นตัวนำในการกำจัดอวิชชา

สรุป 

   ท่านผู้อ่านคงมีความเข้าใจในเรื่องของโลกุตรภูมิมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของภูมิที่พ้นจากภพ 3 พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดตามลำดับของการตัดกิเลสของพระอริยบุคคลทั้ง 4 ประเภท คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์

 

 ภาวะที่เข้าถึงและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายอรหัต ซึ่งมีอยู่ภายในกลางกายของทุกคน 

    การเข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลทั้ง 4 ประเภท ต้องละสังโยชน์ไปตามลำดับ จึงจะเข้าถึงสภาวธรรมของพระอริยบุคคลต่างๆ ได้ เช่น การเป็นพระโสดาบันต้องเข้าถึงสภาวธรรมที่ทำเป็นพระโสดาบัน คือ ละสังโยชน์เบื้องต้นได้ 3 ประการ การเป็นพระสกิทาคามี ก็ต้องเข้าถึงสภาวธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาบันก่อน แล้วจึงจะต่อด้วยการเข้าถึงสภาวธรรมที่ทำให้เป็นพระสกิทาคามี สามารถทำสังโยชน์เบื้องต่ำที่เหลืออีก 2 ชนิด ให้เบาบางลงได้ การเป็นพระอนาคามีบุคคล ต้องผ่านสภาวธรรมที่ทำให้เป็นพระโสดาบัน และพระสกิทาคามีมาก่อน และการที่จะเป็นพระอรหันต์ได้ ต้องผ่านขั้นตอนของการเข้าถึงสภาวธรรมของพระอริยบุคคลทั้ง 3 ประเภทก่อน จึงบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระอริยบุคคลขั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา

    พระอริยบุคคลทั้ง 4 ประเภทนั้น เป็นผู้เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ตามลำดับเช่นกัน ถ้าเป็นพระอริยบุคคล 3 ขั้นแรก สามารถรู้เห็น เข้าถึงและรู้รสแห่งนิพพานสุขได้ตามส่วนกิเลสที่ตนละได้ ส่วนพระอรหันต์นั้น สามารถกำจัดกิเลสได้หมดสิ้น จึงเข้าถึงนิพพานและสัมผัสรู้รสแห่งนิพพานได้อย่างเต็มที่

     ดังนั้น โลกุตรภูมิจึงเป็นภูมิที่สำคัญที่สุด และเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะพระอรหันต์อันเป็นพระอริยบุคคลขั้นสุดท้ายของการเวียนว่ายตายเกิดใน สังสารวัฏ เมื่อท่านทราบอย่างนี้แล้ว ก็จะได้ฝึกฝนตนเองให้ตรงเป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ให้สำเร็จต่อไป  


1 มหามาลุงกยโอวาทสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 20 ข้อ 159 หน้า 314-315. 


Complete and Continue