4.1 ชีวิตชาวสวรรค์ (17:10)

4.1.4 เหตุให้ได้นามของชาวสวรรค์

      ในเมืองมนุษย์มีการตั้งชื่อ นามสกุล ใช้เป็นนามสมมุติสำหรับเรียกขานชื่อคน สัตว์ สิ่งของ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการสื่อสารกัน การตั้งชื่อในเมืองมนุษย์ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน บางคนตั้งชื่อโดยดูจากวันเดือนปีเกิดของคนนั้นบ้าง ตั้งชื่อตามสถานที่เกิดบ้าง ตั้งชื่อตามความสะดวกบ้าง แต่เนื่องจากชาวสวรรค์ มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายไม่ต้องขวนขวายเหมือนมนุษย์ ฉะนั้นเรื่องการบังเกิดขึ้นของบริวาร วิมาน ทิพยสมบัติทั้งหลายก็ดี จะเกิดด้วยอำนาจแห่งบุญ แม้แต่การบังเกิดขึ้นของชื่อของเหล่าเทวดา ก็มีเหตุแห่งการเกิดของชื่อได้อย่างน้อย 5 ประการ ดังนี้ 

  • ประการที่ 1 เกิดขึ้นตามชื่อในขณะที่สั่งสมบุญ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เช่น ชื่อมฆมานพ ได้ชวนสหาย 33 คนสร้างศาลา สร้างถนน สร้างสะพาน บำเพ็ญประโยชน์ให้สังคม พอท่านไปเกิดเป็นพระราชาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท่านได้ชื่อว่า ท้าวมฆวาน 
  • ประการที่ 2 เกิดตามธรรมที่ประพฤติ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เช่น เทวบุตรองค์หนึ่ง ชื่อ ขันติกเทวบุตร เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ประพฤติขันติธรรม คือ มีความอดทนตลอดชีวิตของท่าน ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็อาศัยความอดทนเป็นพื้นฐาน เมื่อละโลกแล้ว บังเกิดบนสวรรค์จะมีส่วนแห่งนามว่า ขันติกเทวบุตร 
  • ประการที่ 3 เกิดตามวัตถุทานที่นำไปถวายสงฆ์ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เช่น ในสมัยพุทธกาลมีหญิงคนหนึ่งนำข้าวตอกไปถวายพระมหากัสสปะ ถวายเสร็จได้ถูกงูพิษกัดตาย เมื่อไปเกิดบนสวรรค์ วิมานมีข้าวตอกและรัตนชาติแขวนประดับเต็มไปหมด เทพธิดานั้น ได้ชื่อว่า ลาชธิดา หรือเทพธิดาข้าวตอก อีกตัวอย่างหนึ่ง มีเทวบุตรชื่อ ปทุมฉัตร เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้นำดอกบัวไปบูชาพระเจดีย์ เมื่อละโลกได้บังเกิดบนสวรรค์มีดอกบัวเป็นร่มฉัตรกางกั้นตลอดเวลา 
  • ประการที่ 4 เกิดตามบุญพิเศษที่ได้ทำครั้งเป็นมนุษย์ เป็นบุญพิเศษที่ทำแตกต่างจากที่ผู้อื่นทำ เช่น มีเทวบุตรองค์หนึ่ง ครั้งเป็นมนุษย์ได้ถวายยานพาหนะแด่เนื้อนาบุญ เมื่อละโลกแล้ว เมื่อได้บังเกิดบนสวรรค์ จะมีราชรถใหญ่บังเกิดขึ้น เป็นที่ประทับไปในเทวสมาคม ก็จะมีชื่อที่เกี่ยวกับยานพาหนะ 
  • ประการที่ 5 เกิดขึ้นโดยตำแหน่ง เช่น บุคคลใดที่มีบุญมากกว่าใครทั้งหมดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็มีชื่อว่าพระอินทร์ หรือ ผู้มีบุญมากที่สุดบนสวรรค์ชั้นยามา ก็มีชื่อว่า ท้าวสุยามา เป็นต้น 

4.1.5 ลำดับขั้นการทำความดีของมนุษย์

      บุคคลที่จะถือกำเนิดบนสวรรค์นั้น เมื่อเป็นมนุษย์ต้องหมั่นสร้างความดี สั่งสมบุญ บำเพ็ญบารมี หมั่นทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น ผลแห่งความดีนั้นจะนำให้ไปเกิดบนสวรรค์ ซึ่งจะได้เสวยทิพยสมบัติที่ละเอียดประณีตแตกต่างกัน มีรัศมีกาย มากน้อยต่างกันเพียงไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการทำความดี ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น 4 ประการ ดังต่อไปนี้

  • 1. ทำความดีเพราะความกลัว คือทำความดีเผื่อเอาไว้ว่า หากมีนรกจริง ความดีนี้ก็จะช่วยตนให้ไม่ต้องตกนรกได้ อย่างนี้ ทำความดีได้ไม่เต็มที่ อุปมาเหมือนเด็กอนุบาลทำดีเพราะกลัวครู หรือพ่อแม่ตี เมื่อละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นได้เพียงภุมมเทวา รุกขเทวา หรืออากาสเทวา 
  • 2. ทำความดีเพราะหวังสิ่งตอบแทน เมื่อทำความดีครั้งใด ใจจะคอยแต่คิดหวังลาภหรือของรางวัลต่างๆ กลับคืนมา อุปมาเหมือนเด็กประถมทำดีเพื่อให้ครูแจกขนมหรือให้พ่อแม่ซื้อของเล่นให้ เมื่อละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดาไม่สูงไปกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา 
  • 3. ทำความดีเพราะหวังคำชม ต้องได้รับคำสรรเสริญจึงจะมีกำลังใจทำความดี อุปมาเหมือนเด็กมัธยมทำดีเพราะอยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เมื่อละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดา ไม่สูงไปกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา 
  • 4. ทำความดีเพื่อความดี คือทำความดีเพราะคิดว่านั่นเป็นความดี เป็นสิ่งที่ควรทำ ใครจะให้หรือไม่ให้ของใดๆ ก็ยังทำความดี ใครจะชมหรือไม่ชมก็ยังทำความดี เพราะมั่นใจในความดีที่ตนทำ อุปมาเหมือนนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ทำดีเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ เมื่อละโลกแล้วผลบุญส่งให้ไปเป็นเทวดาตั้งแต่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับความประณีตของใจในขณะทำความดี

4.1.6 ลักษณะการทำบุญที่ทำให้เกิดบนสวรรค์แต่ละชั้น

      การกระทำกุศลของมนุษย์นั้นแตกต่างกัน คนที่มีศรัทธาและมีปัญญา มีความเชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป ย่อมสามารถสร้างบุญได้มาก ได้ประณีต ได้ละเอียด และปลื้มปีติในบุญมากกว่าบุคคลที่ทำบุญเพราะทำตามประเพณี หรือทำบุญเพื่อหวังผลบางอย่าง ในหัวข้อนี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้เหตุแห่งการทำบุญในลักษณะต่างๆ ในโลกมนุษย์ ที่มีผลต่อการบังเกิดบนสวรรค์ชั้นต่างๆ ซึ่งมีกล่าวไว้ใน ทานสูตร3) จะขอนำมาสรุปย่อเพื่อให้เข้าใจดังนี้ 

  • เกิดบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา มีหลายสาเหตุ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญไม่ค่อยเป็น ไม่รู้หลักการทำบุญ และไม่ค่อยได้สั่งสมบุญ นานๆ ทำครั้งหนึ่ง เมื่อทำก็ทำน้อย หรือทำบุญเอาคุณ บุญที่ได้ก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่สมบูรณ์ บาปในตัวก็มีอยู่ แต่ว่าบุญมากกว่า เมื่อละโลกใจนึกถึงบุญก่อนก็ไปสวรรค์ชั้นนี้ 
  • เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะเห็นว่าเป็นความดีงาม เป็นสิ่งที่ควรทำ กระทำแล้วก็สั่งสมบุญ สั่งสมเทวธรรม มีหิริโอตตัปปะด้วย เมื่อละโลกก็จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ 
  • เกิดบนสวรรค์ชั้นยามา คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพราะอยากจะรักษาประเพณีแห่งความดีงาม แล้วไว้ ทำนองว่า วงศ์ตระกูลทำมาอย่างไร ก็อยากจะรักษาประเพณีไว้ หรือ ผู้หลักผู้ใหญ่สอนมาอย่างไร เห็นบรรพบุรุษทำมาอย่างไรก็ทำอย่างนั้นทำกันไปตามธรรมเนียมกันไป เช่น เห็นปู่ย่าสร้างโบสถ์ บำรุงวัด สร้างพระประธาน ก็ทำตามนั้นด้วย หรือพระภิกษุ ที่จะรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ที่พระต้องมีหน้าที่รักษาพระพุทธศาสนา เมื่อละโลกแล้วส่วนใหญ่จะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ 
  • เกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญเพื่อปรารถนาสงเคราะห์โลก ปรารถนาให้โลกมีความสุข มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่เพื่อตนเองอย่างเดียว แต่เพื่อสงเคราะห์โลก เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย เมื่อละโลกแล้ว ก็จะไปสวรรค์ชั้นนี้ 
  • เกิดบนสวรรค์ชั้นนิมมานรดี คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เห็นผู้อื่นทำบุญแล้วได้รับการยกย่องส่งเสริม จึงอยากจะทำอย่างนั้นบ้าง อยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง เมื่อละโลกแล้วจะไปบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ 
  • เกิดบนสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี คือ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำบุญด้วยความเลื่อมใส เคารพในทาน ทำแล้วมีความรู้สึกปลื้มใจในบุญที่ทำนั้น เมื่อละโลกแล้วจะบังเกิดบนสวรรค์ชั้นนี้ 

      และถ้าใครทำบุญครบทั้ง 6 อย่างดังกล่าว เมื่อทำบุญแล้วปรารถนาจะไปอยู่ ณ ที่ใด ก็สามารถจะไปสวรรค์ชั้นที่ต้องการได้ เหตุแห่งการกระทำที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นสาเหตุหลักๆ เป็นลักษณะภาพรวมของการทำบุญที่ทำให้ไปเกิดในสวรรค์ในแต่ละชั้น แต่อาจจะมีองค์ประกอบอย่างอื่นเสริมอีกด้วย 

------------------------------------------------------------------

  • 3) ทานสูตร, อังคุตตรนิกาย สัตตกนิกาย, มก. เล่ม 37 ข้อ 49 หน้า 140-143.


4.1.7 ปฏิปทาเพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์

      หลายหัวข้อที่ผ่านมาได้กล่าวถึงลักษณะของการทำความดีเพื่อไปเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ แต่ยัง ไม่ได้กล่าวว่าจะทำดีอย่างไร เพื่อให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ในหัวข้อนี้ จะนำเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ ได้อย่างไร เพราะเมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจในหัวข้อนี้แล้ว จะได้ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ตรงทาง 

ในพระไตรปิฎกที่กล่าวถึง แนวทางการปฏิบัติเพื่อไปสู่สวรรค์ใน ปุญญกิริยาวัตถุสูตร4) ว่า

“   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้ 3 ประการเป็นไฉน คือ
ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ 1 ศีลมัยบุญกิริยาวัตถุ 1 ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ 1 ”
 “   ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้แล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแล อันให้ผลเลิศต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน 1 ความประพฤติเสมอ 1 เมตตาจิต 1 บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม 3 ประการอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึง โลกอันไม่มีความเบียดเบียน.” 

      จากพระสูตรนี้ นักศึกษาจะเห็นแนวทางการปฏิบัติตน คือ การทำทาน ความประพฤติตนเสมอ ซึ่งคือการรักษาศีล และเมตตาจิต ซึ่งคือการทำภาวนานั่นเอง เมื่อทำทั้ง 3 ประการแล้ว จะได้ไปสู่โลกอันไม่มีการเบียดเบียน หรือสวรรค์ ซึ่งได้มีการขยายความแล้วในบทที่ 1 ดังนั้นในบทนี้จะ ไม่ขยายความซ้ำอีก แต่ให้นักศึกษาได้นำวิธีการทั้ง 3 นี้ไปฝึกปฏิบัติให้สม่ำเสมอ ให้เป็นอาจิณกรรม หากยังไม่หมดกิเลสต้องเวียนว่ายตายเกิด ก็จะเกิดอยู่ในสุคติภูมิฝ่ายเดียว เพราะผลจากการประกอบบุญกิริยาวัตถุ ทั้ง 3 ประการนี้

------------------------------------------------------------------

  • 4) ปุญญกิริยาวัตถุสูตร, ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ, มก. เล่ม 45 ข้อ 238 หน้า 386.


Complete and Continue