3.1 มนุสสภูมิ ที่สร้างบารมี (14:43)

มนุสสภูมิ

จากการที่เราได้ศึกษาเรื่องอบายภูมิมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าอบายภูมินั้นเป็นดินแดนที่มีแต่ความทุกข์ทรมานยิ่งนัก นอกจากนี้ยังทำให้เราได้ข้อสรุปที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า การเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี หรือสัตว์เดียรัจฉานก็ดี ล้วนเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ครั้งยังมีชีวิตอยู่ทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่าภูมิมนุษย์จะต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตใน สังสารวัฏนี้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ตรัสถึงความสำคัญของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ว่า เป็นความยากอย่างหนึ่งทีเดียว ซึ่งมีปรากฏใน พุทธวรรค1 ว่า  

“ กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ การกลับได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก”

 

ชีวิตหลังความตายในภพภูมิตางๆ ตามกรรมของแต่ละคน

การเวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ กว่าจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้นเป็นการยาก 

     การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน 31 ภพภูมินั้น หากเราจะเปรียบเทียบสัตว์ที่อยู่ในภูมิอื่นๆ กับภูมิมนุษย์แล้ว จะพบว่าสัตว์ที่เกิดในภูมิมนุษย์นั้นมีจำนวนน้อยมาก แต่สัตว์ที่ไปบังเกิดในภูมิฝ่ายสุคติ มีสวรรค์ 6 ชั้นบ้าง พรหมบ้าง อรูปพรหมบ้าง มีจำนวนมากกว่า หรือสัตว์ที่ไปเกิดในภูมิฝ่ายทุคติ มีสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉาน จัดว่ามีจำนวนมากที่สุด  

     หากเราได้พิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะพบว่า สุคติภูมิ เป็นภูมิแห่งการเสวยผลแห่งกุศลกรรมที่ตนได้กระทำไว้ ทุคติภูมิ เป็นภูมิแห่งการเสวยผลบาป ส่วนภูมิมนุษย์นั้นเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างบุญและบาป ในบทนี้ เราจะได้ทำความรู้จักกับภูมิที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด คือ มนุสสภูมิ เป็นการอธิบายเรื่องตัวของเราเอง และมวลมนุษยชาติทั้งหลาย เราไม่ได้ศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการศึกษาในเชิงพุทธศาสตร์ ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมองมนุษย์อย่างไร

3.1 ความหมายของคำว่า มนุสสภูมิ

      ในลำดับแรก เรามาทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า มนุษย์ กันก่อน มนุษย์ หมายถึง คน หรือ เหล่าคน เขียนตามแบบบาลีได้ว่า มนุสฺส มาจากคำว่า มน (อ่านว่า มะ-นะ) ซึ่งแปลว่า ใจ รวมกับคำว่า อุสฺส ที่แปลว่า สูง เมื่อรวมความหมายแล้ว แปลว่า ผู้มีใจสูง เหตุที่ได้ชื่อว่า มีใจสูง เพราะมีความดีงามอยู่ในจิตใจ กล่าวคือ มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้บุญบาป รู้จักมีเมตตากรุณา เป็นต้น และเมื่อนำคำว่า มนุสฺส มารวมกับคำว่า ภูมิ ที่แปลว่า แผ่นดิน ที่อยู่ ก็จะหมายถึง ที่อยู่ของผู้มีใจสูง นอกจากความหมายของคำว่า มนุษย์ ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีที่แสดงไว้อีกหลายนัย ดังนี้

  • 1. มนุษย์มีใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง
  • 2. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุอันควรและไม่ควร
  • 3. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์
  • 4. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่เป็นกุศลและอกุศล
  • 5. มนุษย์เป็นลูกของเจ้ามนุ

       ที่ว่ามนุษย์เป็นลูกของเจ้ามนุนั้น มีความหมายดังนี้คือ ในสมัยต้นกัป ประชาชนได้เลือกพระโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมนุษย์มีชื่อว่า มนุ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ และถวายพระนามว่า พระเจ้ามหาสัมมตะ พระเจ้ามหาสัมมตะทรงวางระเบียบแบบแผนกฎข้อบังคับอย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตาม ประชาชนต่างก็มิได้ฝ่าฝืนเลย คงกระทำตามนั้นทุกประการ เสมือนหนึ่งว่าบุตรที่ดีทั้งหลายได้ประพฤติตามโอวาทของบิดา เหตุนี้จึงเรียกว่า มนุสฺส หมายถึงว่า เป็นลูกของพระเจ้ามนุ

Complete and Continue