2.2 เปตติวิสยภูมิ

 2.2 เปตติวิสยภูมิ

      นักศึกษาได้ทำความเข้าใจเรื่องนรกมาแล้ว จะเห็นว่านรกเป็นสถานที่ลงทัณฑ์ทรมานของผู้ที่ทำบาปอกุศลมามากเมื่อครั้งที่เป็นมนุษย์ ในลำดับต่อไปนักศึกษาจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเปรต อันเป็นสถานที่อยู่ของชีวิตหลังความตายอีกภพภูมิหนึ่ง ที่มีความน่าสนใจเช่นเดียวกัน

      เปรตบางจำพวกอาศัยปะปนอยู่กับภพมนุษย์ แต่เป็นภพที่ละเอียดกว่า ซึ่งมนุษย์มองไม่เห็น แต่ไม่ได้หมายความว่าเปรตนั้นไม่มี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสยืนยันเรื่องเปรตนี้ว่ามีจริง และทรงรู้ถึงการกระทำที่จะนำไปเป็นเปรต ดังมีกล่าวไว้ใน มหาสีหนาทสูตร ตอนหนึ่งดังนี้

 “   ดูก่อน สารีบุตร เราย่อมรู้จักเปรตวิสัย ทางไปสู่เปรตวิสัยและปฏิปทาอันจะยังสัตว์ให้ถึงเปรตวิสัย อนึ่ง สัตว์ผู้ดำเนินประการใด เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เราย่อมรู้ชัดซึ่งการกระทำนั้นด้วย” 

      เรื่องเปรตนี้ นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงรู้ชัดแจ้งแล้ว ยังมีเหล่าสาวกอีกจำนวนมากที่รู้ชัดแจ้ง หนึ่งในจำนวนพระสาวกนั้น คือ พระมหาโมคคัลลานะผู้มีฤทธิ์มาก หลายครั้งที่ท่านออกบิณฑบาตกับสหธรรมิกบ้าง เหล่าศิษย์บ้าง ท่าน จะพบกับเปรตที่มีลักษณะต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง เมื่อพบแล้วก็ยังมิได้บอก อะไรกับภิกษุนั้น ที่ไม่เห็นเปรต เมื่อท่านกลับมาถึงวัดแล้ว จึงนำมาเล่าต่อพระพักตร์ของพระบรมศาสดาว่า ได้เห็นเปรตตนหนึ่ง มีรูปร่างอย่างนั้นๆ ซึ่งพระองค์ทรงรับรองว่าเปรตที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นนั้น เป็นเรื่องจริง

      หากนักศึกษาอ่านพระไตรปิฎกจะพบว่า มีการรวบรวมเรื่องเปรตไว้เป็นจำนวนมาก และจัดหมวดหมู่ไว้โดยเฉพาะได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนักศึกษาสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ใน ขุททกนิกาย เปตวัตถุ 

2.2.1 ความหมายของเปตภูมิ 

เปตติวิสยภูมิ คือ ที่อยู่ของเปรต หรือ โลกของเปรต เป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 ฝ่ายทุคติ สัตว์ที่ชื่อว่าเปรตนั้น เพราะเป็นสัตว์ที่มีความเดือดร้อน มีความเป็นอยู่อย่างหิวโหยอดอยาก ซึ่งต่างกับสัตว์นรก ที่มีความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าเดือดร้อนเพราะถูกทรมาน

2.2.2 ที่ตั้งและชนิดของเปรต 

ที่อยู่ของเปรตนั้น อยู่ใต้เขาตรีกูฏอันเป็นภพของอสูร แต่อยู่ในซอกเขาตรีกูฏ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นภพเฉพาะของเปรต และยังมีเปรตบางประเภทที่อยู่ปะปนกับภพมนุษย์ด้วย 

ชนิดของการเกิดเป็นเปรตกล่าวโดยรวมๆ มี 2 ประเภท

  • 1. เปรตที่มาจากภูมิอื่นๆ เช่น เปรตที่มีเศษกรรมที่เหลือมาจากมหานรก อุสสทนรก ยมโลกแล้วจึงมาเป็นเปรต
  • 2. เปรตที่มาจากภูมิมนุษย์ ที่ได้ทำกรรมชั่วช้าครั้งเป็นมนุษย์ มีความตระหนี่ มีความโลภเป็นเจ้าเรือน เมื่อตายแล้วก็มาเกิดเป็นเปรตทันที

       ไม่ว่าจะเป็นเปรตที่มาจากภูมิใด เมื่อมาอยู่ในภูมิเปรตแล้วย่อมได้รับความทุกข์ทรมานฝ่ายเดียว เป็นเวลายาวนานมาก อายุของเปรตนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับวิบากกรรมที่ตนกระทำ บางตนยาวนานเป็นพุทธันดร บางตนน้อยกว่านั้น บางตนมากกว่านั้น อย่างเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิสาร มีความทุกข์ทรมานนานถึง 4 พุทธันดร

Complete and Continue