1.1 สามัญลักษณะของปรโลกวิทยา

ความนำ

สรรพสัตว์และสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไปในที่สุด เป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ และนำมาแสดงให้กับมนุษย์ทั้งหลายได้รับทราบ หากเรานำมาขบคิดพิจารณา เราจะเห็นจริงตามพระดำรัสของพระพุทธองค์ และยังพบว่าไม่มีใคร หรือ สิ่งใดที่จะรอดพ้นจากกฎธรรมชาติเหล่านี้ไปได้เลย

มนุษย์ได้ชื่อว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกใบนี้ มนุษย์แต่ละยุคแต่ละสมัย มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านอายุขัย ขนาดรูปร่าง อาหารการกิน และความเป็นอยู่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของธาตุที่อยู่ในตัวมนุษย์ในยุคนั้น อย่างเช่น มนุษย์ยุคของเรานี้ สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ บนโลกนี้ ให้เจริญงอกงามไปด้วยวัตถุที่ทันสมัยที่จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตให้กับมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ยุคนี้ กลับเหลือเพียง 75 ปีเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากมนุษย์ในยุคแรกที่มีอายุยืนเป็นพันปี หมื่นปี นี่คือความแตกต่างของมนุษย์แต่ละยุค

มนุษย์ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐที่สุด และมีลักษณะที่แตกต่างกันดังกล่าวตามยุค ตามสมัย แต่ถึงอย่างไร มนุษย์ยังไม่อาจจะพ้นจากกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ ดังกล่าวข้างต้นได้ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงสิ่งที่เป็นสามัญลักษณะสำหรับมนุษย์ไว้ว่า คนเรามีความแก่ ความ เจ็บ และความตายเป็นธรรมดา เราจะล่วงพ้นความแก่ ความเจ็บ และความตายไปไม่ได้ ธรรมะข้อนี้สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกใบนี้ล้วนจะต้องตายหมด ไม่มีใครเลยที่จะหลุดรอดพ้นจากความตายไปได้ ไม่มีใครอยู่เป็นอมตะค้ำฟ้าได้ตลอดไป

คราวนี้ก็มีคำถามยอดนิยม ที่มีผู้คนสงสัยกันมากในทุกยุคทุกสมัยว่า คนเราเมื่อตายแล้วไปไหน ซึ่งมีคำตอบที่หลากหลาย บางคนมีความเชื่อว่าตายแล้วสูญ บางคนเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ แต่โดยทั่วไปแล้ว ไม่ทราบว่าตายแล้วไปไหน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีผลต่อชีวิตหลังความตายของบุคคลนั้นๆ คือ ถ้าเชื่อว่า ตายแล้วสูญ แล้วไม่ประกอบความดี เมื่อละโลกแล้วปรโลกที่เขาจะไปนั้น ก็จะเศร้าหมอง ทุกข์ทรมาน ยิ่งนัก หากมีความเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ ก็จะประกอบความดีอย่างต่อเนื่อง มีโอกาสเดินทางไปสู่ปรโลกที่มีแต่ความสุขได้ เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว

ดังนั้น ถึงอย่างไรมนุษย์ทุกคนต้องตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาจะต้องศึกษาวิชาปรโลกวิทยา เพื่อให้ทราบความจริงของชีวิตหลังความตายว่า มีสถานที่ใดบ้าง เป็นสถานที่ที่รองรับชีวิตหลังความตาย มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และเราจะเตรียมความพร้อมอย่างไรที่จะเดินทางไปสู่ปรโลก เมื่อได้ศึกษาแล้ว จะทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น และจะได้ตั้งใจ ประกอบเหตุที่จะนำไปสู่ปรโลกที่ดีมากขึ้น และหากสั่งสมความดีไว้มาก แต่ยังไม่หมดกิเลส เรามีโอกาสเลือก สถานที่ที่เราต้องการจะไปหลังจากที่เราละจากโลกนี้ไปได้อีกด้วย

1.1 สามัญลักษณะของปรโลกวิทยา

ในหัวข้อนี้ นักศึกษาจะได้ศึกษาสามัญลักษณะ หรือความรู้พื้นฐานทั่วไปของวิชาปรโลกวิทยา ที่กล่าวถึงความหมายของปรโลกวิทยา เพื่อให้นักศึกษาได้ทราบขอบข่ายของการศึกษาวิชานี้อย่างกว้างๆ ว่า เรากำลังจะศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในโลกอื่นๆ นอกจากมนุษยโลก ได้ศึกษาสถานที่ตั้งของปรโลกว่าอยู่ส่วนใดของโลกมนุษย์ มีภพภูมิใดบ้างที่เรียกว่า ปรโลก และได้ศึกษาความจริงที่ว่าปรโลก ยังตกอยู่ในกฎไตรลักษณ์ ที่มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน และยังเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นสถานที่รองรับการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เรียกว่าสังสารวัฏอีกด้วย

1.1.1 ปรโลกวิทยา คือ อะไร

 

 ปรโลกวิทยา คือ อะไร

      คำว่า ปรโลกวิทยา ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ คำว่า ปรโลก ซึ่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า โลกหน้า1) และคำว่า วิทยา หมายถึง ความรู้ ดังนั้นปรโลกวิทยา จึงหมายถึงความรู้ที่ว่าด้วยโลกหน้า

      จากคำแปลของปรโลกวิทยาดังกล่าว เป็นความหมายโดยพยัญชนะ แต่สามารถแปลขยายความเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ และชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

      ปรโลกวิทยา หมายถึง การศึกษาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในภพภูมิอื่นที่นอกเหนือจากภพมนุษย์ จากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก และตำราสำคัญทางพระพุทธศาสนา

       จากความหมายของปรโลกวิทยาข้างต้นนี้ จะทำให้นักศึกษาเข้าใจภาพรวมของวิชาปรโลกวิทยาว่า เรากำลังจะศึกษาสภาพความเป็นอยู่ของภพภูมิต่างๆ ที่นอกเหนือจากภพมนุษย์ เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเดินทางไปสู่ปรโลก เมื่อถึงคราวจะต้องหลับตาลาโลกไป และนักศึกษาจะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ที่ยังไม่รู้ เพื่อเตรียมตัวไปสู่ปรโลกด้วยเช่นกัน

1) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546, หน้า 650.

1.1.2 ปรโลกเป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ

 

 ปรโลกเป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ

 

       ในทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่า คนเกิดมาไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว เราเกิดมานับภพนับชาติไม่ถ้วน และยังต้องเวียนว่ายตายเกิดถือกำเนิดในวัฏสงสารอีกยาวไกลจนกว่าจะถึงฝั่งแห่งพระนิพพาน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปุคคลสูตร2) ความว่า

      “   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ เมื่อบุคคลหนึ่งท่องเที่ยวไปมาอยู่ตลอดกัปหนึ่ง มีกองกระดูกใหญ่เท่าภูเขาเวปุลละนี้ ถ้ากองกระดูกนั้นพึงเป็นของที่จะขนมารวมกันได้ และกระดูกที่ได้สั่งสมไว้แล้ว ก็ไม่พึงหมดไป เพราะว่าสงสารนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ”

 

      พระดำรัสของพระพุทธเจ้านี้แสดงให้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์ไม่ได้สิ้นสุดที่เชิงตะกอน แต่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิต่างๆ อีกมากมาย นับภพนับชาติไม่ถ้วน ตราบวันสิ้นกิเลส

      มีคำศัพท์ที่น่าสนใจคำหนึ่ง คือ คำว่า “   สังสารวัฏ หรือ วัฏสงสาร” ตามพจนานุกรม ฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า “   การเวียนว่ายตายเกิด”3) หมายถึง การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ใน ภพ 3 ในกำเนิดทั้ง 4 คติ 5 วิญญาณฐิติ 7 (ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ) หรือสัตตาวาส 9 (ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์) เวียนว่ายตายเกิดจากภพนั้นไปภพนี้ กำเนิดนั้นไปกำเนิดนี้ วนเวียนไปมาตามกำลังบุญและบาปที่ตนกระทำไว้ ขอขยายความเพิ่มเติมในศัพท์เหล่านี้ เพื่อให้เข้าใจความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น

     ภพ 3 หมายถึง   

  1. กามภพ
  2. รูปภพ
  3. อรูปภพ

   กำเนิด 4 หมายถึง

  1. กำเนิดในไข่ (อัณฑชะ)
  2. กำเนิดในครรภ์ (ชลาพุชะ)
  3. กำเนิดในเหงื่อไคลหมักหมม (สัง-เสทชะ)
  4. กำเนิดแบบเกิดแล้วโตทันที (โอปปาติกะ)

    คติ 5 หมายถึง

  1. นรก
  2. สัตว์เดียรัจฉาน
  3. เปรต
  4. มนุษย์
  5. สวรรค์ (ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)

    วิญญาณฐิติ 7 คือ ภูมิเป็นที่ตั้งของวิญญาณ มี 7 อย่าง ได้แก่

1. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น มนุษย์ เทพบางเหล่า

2. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายต่างกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน เช่น พรหมผู้กำเนิดในภูมิปฐมฌาน (พรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา พรหมมหาพรหม)

3. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกาย อย่างเดียวกัน มีสัญญาต่างกัน เช่น พวกอาภัสสราพรหม

4. สัตว์เหล่าหนึ่งมีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญา อย่างเดียวกัน เช่น สุภกิณหพรหม

5. สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ

6. สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ

7. สัตว์เหล่าหนึ่งผู้เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ

        สัตตาวาส 9 คือ ภพเป็นที่อยู่ของสัตว์ มี 9 อย่าง เหมือนกับวิญญาณฐิติ 7 ต่างกันตรงที่เพิ่มข้อ 5 เข้ามาเป็น สัตว์เหล่าหนึ่งไม่มีสัญญา ไม่มีการเสวยเวทนา เช่น พวกเทพผู้เป็นอสัญญีสัตว์ เลื่อนข้อ 5 6 7 ออกไปเป็นข้อ 6 7 8 แล้วเพิ่มข้อ 9 คือ สัตว์เหล่าหนึ่ง ผู้เข้าถึง เนวสัญญานาสัญญายตนะ

      สรุปว่าศัพท์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นภพภูมิที่ตั้งของปรโลก เพียงแต่จำแนกแยกแยะให้เหมาะกับเหตุการณ์ หรือเหมาะสมกับการนำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะต่างๆ แต่ความหมายโดยรวมแล้ว หมายถึง สถานที่อยู่ของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในภพภูมิต่างๆ ของปรโลก หากจะอุปมาให้เข้าใจง่ายขึ้นก็เหมือนกับ การจำแนกประเภทสัตว์ เช่น สัตว์มี 2 ชนิด คือ สัตว์บก สัตว์น้ำ ถ้ามี 3 ชนิด ก็จะเพิ่ม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ หรือแยกสัตว์ตามประเภทของจำนวนขาสัตว์ อาจจะได้ 3 ประเภท คือ สัตว์มีเท้ามาก สัตว์มีเท้าน้อย สัตว์ไม่มีเท้า สามารถแยกให้เหมาะสมกับการนำใช้งานว่า เหมาะสมกับงานใด แต่ทั้งหมดก็หมายถึง สัตว์เดียรัจฉานทุกชนิดในโลกนั่นเอง

      สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังเวียนวนอยู่ในสังสารวัฏนี้ จึงเหมือนถูกขังอยู่ในคุกขนาดใหญ่ อุปมาเหมือนเชลยศึกที่ถูกจองจำ เป็นประดุจโคงานที่เขาเทียมไว้ หรือประดุจวัวที่ผูกไว้กับหลัก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏไว้ใน มหาสีหนาทสูตร4) ว่า

       “   ดูก่อนสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะและทิฏฐิอย่างนี้ว่า ความหมดจดย่อมมีได้ด้วยสังสารวัฏ ดูก่อนสารีบุตร ก็สังสารวัฏที่เราไม่เคยท่องเที่ยวไป โดยกาลยืดยาวช้านานนี้ เว้นแต่ขั้นปัญจสุทธาวาส เป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายนัก”

จากพระสูตรนี้ แสดงให้เห็นว่า ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดใน 31 ภูมิ เว้นแต่ปัญจสุทธาวาส เพราะเป็นภูมิที่อุบัติของพระอนาคามีบุคคลเท่านั้น ที่สามารถทำความเพียรจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ ซึ่งพระองค์ไม่ได้มุ่งหมดกิเลสในภพนั้น และแม้แต่สรรพสัตว์ทั้งหลายก็ยังคงเวียนวนไปมาในภพภูมิต่างๆ ด้วยอาการที่เวียนว่ายตายเกิดนี้ จึงเรียกว่า วัฏสงสาร ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ

 1. เหฏฐิมสงสาร คือ การท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องต่ำ ซึ่งมีอยู่ 4 ภูมิ ได้แก่ นิรยภูมิ คือ โลกนรก ซึ่งมีทั้งมหานรก อุสสทนรก ยมโลก เปตติวิสยภูมิ เป็นโลกของเปรต อสุรกายภูมิ เป็นโลกของอสุรกาย และดิรัจฉานภูมิ โลกของสัตว์เดียรัจฉาน

2. มัชฌิมสงสาร คือ การท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องกลาง มีอยู่ 7 ภูมิ คือ มนุสสภูมิ เป็นโลกมนุษย์ และเทวภูมิ 6 ภูมิ คือ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี

3. อุปริมสงสาร คือ การท่องเที่ยวไปในโลกเบื้องสูง เป็นที่อยู่ของรูปพรหมผู้ได้บรรลุรูปฌานสมาบัติ ตั้งแต่ปฐมฌาน จนถึงจตุตถฌาน มีอยู่ 20 ภูมิ คือ พรหมปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมา ปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสสรา ปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา เวหัปผลา อสัญญีสัตตา อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี และอกนิฏฐา และอรูปพรหมผู้ได้บรรลุฌานสมาบัติที่ละเอียดกว่ารูปพรหม 4 ภูมิ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ในหัวข้อนี้ นักศึกษาได้ทำความเข้าใจมากขึ้น ในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลายหลังจากที่ตายแล้วว่า จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิทั้งหลายดังที่กล่าวมาแล้ว และไม่ใช่เป็นการ ตายเกิดเพียงภูมิเดียว หรือชาติเดียว แต่เป็นการเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกว่าจะละอกุศล สั่งสมกุศล จนเป็นเหตุให้กำจัดกิเลสในตัวให้หมดสิ้น ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานได้ ซึ่งปรโลกนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏสงสารที่ประกอบด้วย กิเลสภายในตัวของสรรพสัตว์ทั้งหลาย สถานที่อยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่มีผลอันเนื่องมาจากการกระทำที่เรียกว่า วิบาก และกฎแห่งกรรมที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายอยู่ในภูมิต่างๆ

 -------------------------------------------------------------------------- 

2) ปุคคลสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 ข้อ 441 หน้า 521.

3) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ 2546, หน้า 1161.

4) มหาสีหนาทสูตร, มัชณิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่ม 18 ข้อ187 หน้า 60.

Complete and Continue