4.1 ความเข้าใจเบื้องต้นก่อนการศึกษาเทวภูมิ

ความนำ

ชีวิตในสังสารวัฏเป็นชีวิตที่ยาวนาน หาเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลายได้ยาก ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลส ตราบนั้นเราจะต้องเวียนว่ายตายเกิดนับภพนับชาติไม่ถ้วน จากการที่นักศึกษาได้เรียนรู้เรื่องของอบายภูมิ และมนุสสภูมิที่ผ่านมาแล้ว นักศึกษาจะเห็นได้ว่ามนุสสภูมิเท่านั้น ที่สามารถสร้างบุญและบาปได้อย่างเต็มที่ ส่วนอบายภูมินั้น เป็นสถานที่เสวยผลบาปของบุคคลผู้กระทำอกุศลกรรมด้วยกาย วาจา และใจ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ จะต้องถูกทัณทรมานอย่างโหดร้ายเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก หมดโอกาสสร้างความดี และเรื่องเทวภูมิที่นักศึกษาจะได้ศึกษาต่อไปนี้ จะเป็นสถานที่เสวยผลแห่งบุญของผู้ได้กระทำกุศลกรรมไว้ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์

เรื่องเทวภูมิ หรือที่เรียกกันว่า สวรรค์นั้น บุคคลบางพวกก็เชื่อว่ามีจริง บางพวกก็เชื่อว่าไม่มีจริง และเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อให้คนรักในการทำความดี แม้ในหลายศาสนาก็มีความเชื่อเป็น 2 อย่างในลักษณะเดียวกัน แต่ศาสนาส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าสวรรค์มีจริงที่เรียกว่า แดนสุขาวดี ส่วนในพระพุทธ-ศาสนานั้นมีหลักฐานยืนยันเรื่องสวรรค์มากมาย จากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่บันทึกไว้ในพระ-ไตรปิฎก ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ากล่าวไว้ใน มหาสีหนาทสูตร1) ว่า

“ ดูก่อนสารีบุตร เราย่อมกำหนดรู้ใจบุคคลบางคนในโลกนี้ด้วยใจอย่างนี้ว่า บุคคลนี้ปฏิบัติอย่างนั้น ดำเนินอย่างนั้น และขึ้นสู่หนทางนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ โดยสมัยต่อมา เราย่อมเห็นบุคคลนั้น เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกเข้าถึงแล้วซึ่งสุคติโลกสวรรค์ เสวยสุขเวทนาโดยส่วนเดียว ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์”

และก่อนที่นักศึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องเทวภูมินั้น ในเบื้องต้นนี้จะขอทำความเข้าใจว่า เนื้อหาของเทวภูมิแต่ละชั้นนั้นจะมีรายละเอียดมากน้อยไม่เท่ากัน เนื่องจากว่า สวรรค์บางชั้นมีความใกล้ชิดและสัมพันธ์กับภูมิมนุษย์มากกว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ เช่น สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ที่มีเทวดาบางเหล่าอยู่ซ้อนกับภพมนุษย์ มีแบ่งการปกครองเป็นเขตซ้อนอยู่ในเมืองมนุษย์ด้วย และสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เป็นภพที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเรื่องราวที่ปรากฏในพระไตรปิฎกหรือในคัมภีร์สำคัญในพระพุทธศาสนานั้น จะพบข้อมูลของเทวดาทั้ง 2 ชั้นนี้มากที่สุด ส่วนสวรรค์ชั้นอื่นก็พอมีบ้าง และมีการปกครองที่เป็นเฉพาะของตนเองต่างหาก ไม่เหมือนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาและดาวดึงส์ที่มีความสัมพันธ์กัน จากพื้นมนุษย์ไปถึงดาวดึงส์เลยทีเดียว

4.1 ความเข้าใจเบื้องต้นก่อนการศึกษาเทวภูมิ

ลำดับต่อไปนี้ จะขอนำเสนอเนื้อหาที่เป็นเรื่องพื้นฐานของเทวภูมิ เช่น ความหมาย ลักษณะของสวรรค์ การอุบัติ การจุติของชาวสวรรค์ หรือการทำบุญที่ทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าใจองค์ประกอบของสวรรค์ และได้เห็นภาพรวมของสวรรค์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4.1.1 ความหมายของเทวภูมิ

       เทวภูมิ เป็นปรโลกฝ่ายสุคติ จัดอยู่ในกามภพ คือ ภูมิที่ยังต้องบริโภคกาม ยังยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ผู้ที่ยังยินดีในกามคุณจึงต้องมาเกิดในกามภพ

      คำว่า เทวภูมิ มาจากคำว่า เทวะ รวมกับคำว่า ภูมิ เทวะ แปลว่า ผู้ที่เพลิดเพลินยิ่งในกามคุณทั้ง 5 อันเป็นทิพย์ เทวะมี 3 ประเภท คือ

  • 1. อุปปัตติเทวะ ได้แก่ เทวดาโดยกำเนิด
  • 2. สมมติเทวะ ได้แก่ เทวดาโดยสมมติ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา เป็นต้น
  • 3. วิสุทธิเทวะ ได้แก่ เทวดาที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง หมายถึง พระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น 

      คำว่า เทวะ ที่แปลว่า ผู้ที่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณทั้ง 5 อันเป็นทิพย์ เป็นคำแปลโดยเฉพาะของอุปปัตติเทวะเท่านั้น จะนำไปใช้กับสมมติเทวะและวิสุทธิเทวะไม่ได้

      ส่วนคำว่า ภูมิ แปลว่า พื้นเพ หรือ แผ่นดิน ซึ่งหมายถึง สถานที่อยู่อาศัยนั่นเอง

ถ้ารวมความ กับคำว่า เทวะแล้ว เทวภูมิ จะหมายถึง สถานที่อันเป็นที่อยู่ของผู้ที่มีความเพลิดเพลิน ในกามคุณ 5 อันเป็นทิพย์ 

4.1.2 ที่ตั้งของเทวภูมิ

      เทวภูมิ หรือ สวรรค์ คือ ภูมิอันเป็นที่อยู่ของเทวดา เป็นโลกที่อยู่อาศัยของสัตว์อันเป็นทิพย์ ที่มีรัศมีสว่างไสวรอบกายตลอดเวลา เหตุที่ทำให้มาเกิดเป็นเทวดาเพราะได้สร้างบุญกุศลไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ เมื่ออุบัติขึ้นก็ตั้งอยู่ในวัยหนุ่มสาวทันที เรียกว่า ถือกำเนิดแบบโอปปาติกะ ไม่ต้องนอนในครรภ์มารดา หรืออยู่ในฟองไข่ก่อน ส่วนจะอุบัติขึ้น ณ สวรรค์ชั้นไหน เป็นเทวดาประเภทใด และอยู่ในฐานะ อะไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับบุญที่ตัวเองสั่งสมมาเมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ สวรรค์มีด้วยกัน 6 ชั้น ได้แก่

  • จาตุมหาราชิกาเทวภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 1 ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาสิเนรุ
  • ตาวติงสเทวภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 2 ตั้งอยู่ที่หน้าตัดของเขาสิเนรุ
  • ยามาเทวภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 3 ตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไปในอากาศ
  • ดุสิตาเทวภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 ตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไปในอากาศ
  • นิมมานรตีเทวภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 5 ตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปในอากาศ
  • ปรนิมมิตวสวัตดีเทวภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่ 6 ตั้งอยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานนรดีขึ้นไปในอากาศ

4.1.3 การอุบัติและการจุติของชาวสวรรค์

 เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ บุคคลผู้ทำกุศลกรรมสมควรไว้ ครั้นเมื่อละโลกแล้ว ได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นต่างๆ ตามกำลังแห่งบุญของตน ตามปกติแล้วเหล่าทวยเทพจะเกิดแบบโอปปาติกะ คือ เมื่อเกิดปุ๊บก็โตทันที ไม่มีกำเนิดอย่างอื่น ยกเว้นสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เทพบุตรจะมีวัยงามในช่วงอายุราว 18-20 ปี ส่วนเทพธิดาจะมีวัยงามในช่วงอายุราว 16-18 ปี มีวัยหนุ่ม วัยสาว งดงามตลอดเวลา ไม่มีวันร่วงโรยรา ไม่มีความแก่ ฟันไม่หัก ผมไม่หงอก เหมือนมนุษย์ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ร่างกายจะมีผิวพรรณวรรณะที่เปล่งปลั่ง มีแผ่รัศมีสว่างไสวคลุมกาย เป็นปริมณฑลทรงกลม บางตนมีรัศมี 10 วา บางตน 1 โยชน์ บางตน 2 โยชน์ จนถึง 12 โยชน์ก็มี ตามกำลังบุญที่ตนได้สั่งสมไว้      วิมานปราสาทอันเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าทวยเทพ ล้วนมีความวิจิตรงดงาม ใหญ่โตโอฬาร ประดับตกแต่งด้วยรัตนชาติอันอลังการ มีขนาดแตกต่างกัน มีข้าวของเครื่องใช้ล้วนประกอบด้วยความประณีต มีความเป็นอยู่ที่แสนจะสุขสบาย มีอาหารทิพย์บังเกิดขึ้น โดยไม่ต้องทำมาหากิน ไม่ต้องหุงหาอาหาร มีบริวาร คอยรับใช้ใกล้ชิด เสื้อผ้าอันเป็นทิพย์ก็มีความวิจิตรงดงาม ไม่ต้องตัด ไม่ต้องซัก บังเกิดขึ้นให้สวมใส่ อยากจะเปลี่ยนชุดไหนอย่างไรก็ได้เพียงจิตปรารถนาสิ่งใดความสำเร็จก็เกิดขึ้นโดยพลัน กิจกรรมแต่ละวันก็มีการเที่ยวเพลิดเพลินบันเทิงอยู่กับการชมสวน การสังสรรค์กันระหว่างทวยเทพทั้งหลาย บรรยากาศสิ่ง แวดล้อมของชาวสวรรค์จะเป็นฤดูที่สบาย ไม่มีฤดูร้อน ไม่มีฤดูหนาว ไม่มีฤดูฝน นับว่าเป็นดินแดนอันแสนสุขอีกภูมิหนึ่ง 

      แม้ชาวสวรรค์จะมีความสุขสบายถึงเพียงนี้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงมีความทุกข์อยู่เช่นกัน เพราะดินแดนที่ปราศจากความทุกข์มีอยู่เพียงแห่งเดียว คือ พระนิพพาน ตราบใดที่กิเลสยังไม่หมดจากใจ ตราบนั้น ความทุกข์ก็ย่อมรุมเร้าเผาจิตใจให้เศร้าหมองอยู่ร่ำไป ชาวสวรรค์ก็เป็นผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส ยังมีกิเลสตัณหาครอบงำจิตอยู่เหมือนกัน แต่เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของชาวโลกทั่วไป แม้ไม่มีการเจ็บป่วย แก่เฒ่าชรา แต่ชาวสวรรค์ก็ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงจากความตาย หรือเรียกว่า จุติ ได้เช่นกัน เพียงแต่ความตายของชาวสวรรค์ไม่ต้องทุกข์ทรมานเท่านั้น

      เมื่อกล่าวถึงความตายของเหล่าทวยเทพ จะมีลางบอกเหตุ ที่เรียกว่าบุพนิมิตที่จะทำให้จุติจากสวรรค์ มีอยู่ 5 ประการ ดังที่มีกล่าวไว้ใน จวมานสูตร2) ว่า

“   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด เทวดาเป็นผู้จะต้องจุติจากเทพนิกาย เมื่อนั้น นิมิต 5 ประการ ย่อมปรากฏแก่เทวดานั้น คือ ดอกไม้ย่อมเหี่ยวแห้ง 1 ผ้าย่อมเศร้าหมอง 1 เหงื่อย่อมไหลออกจากรักแร้ 1 ผิวพรรณเศร้าหมอง ย่อมปรากฏที่กาย 1 เทวดาย่อมไม่ยินดีในทิพอาสน์ของตน 1” 

      จากพระสูตรนี้ เวลานิมิตปรากฏ เริ่มตั้งแต่ดอกไม้ที่เทพบุตรเทพธิดาประดับนั้น จะเหี่ยวแห้งลง คือ หมดความงดงาม เหมือนทิ้งไว้กลางแดดให้เหี่ยวแห้งฉะนั้น ต่อมาภูษาทิพย์ที่เทพบุตรเทพธิดานุ่งห่มตามปกติ สีสันที่เคยสดใส ก็จะหม่นหมองลงเรื่อยๆ เมื่อเทพบุตรเทพธิดาเห็นความผิดปกติของภูษาทิพย์แล้วก็เกิดความสลดใจ ความทุกข์ระทมใจนี่เอง เป็นเหตุให้หยาดเหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้ง 2 ซึ่งปกติแล้วเทวดาจะไม่มีเหงื่อ เพราะสรีระกายของเขาจะสะอาดเกลี้ยงเกลา เหมือนแก้วมณีที่บริสุทธิ์โดยกำเนิด เมื่อหมดบุญไม่ใช่แค่เหงื่อไคลเท่านั้น แม้แต่เหงื่อกาฬก็จะไหลออกจากร่างกายอีกด้วย ร่างกายของเทพบุตร เทพธิดานั้นจะหนักอึ้ง ด้วยข่ายมุกดาที่ตนประดับ 

      เมื่อนิมิตเริ่มบังเกิดขึ้น เทพบุตร เทพธิดาเห็นความเปลี่ยนแปลงในตน รัศมีกายจะค่อยๆ ลดลง เกิดความไม่ยินดีในเทวโลก หมดความชื่นชมในทิพยอาสน์ของตน เทพบุตรแม้เห็นเทพธิดาอยู่ล้อมรอบ ก็ไม่ยินดี คล้ายเวลาเจ็บป่วยไม่เห็นอะไรที่จะสวยงาม แม้มหรสพจะขับกล่อมไพเราะเพียงใดก็เบื่อหน่าย ไม่อยากดู ไม่อยากฟัง 

      สำหรับเทพบุตรผู้มีบุญนั้น จุตินิมิตจะปรากฏให้รู้ตลอด 7 วันในเทวโลก เมื่อจุตินิมิตปรากฏชัดมากขึ้น เทพบุตร เทพธิดานั้น จะเกิดความโศกเข้าครอบงำจิตใจ เกิดความคิดกระวนกระวาย เพราะคิดว่า เราจะต้องจากสมบัติอันเป็นทิพย์นี้ไปเสียแล้ว เทพบางองค์ไม่สามารถระงับความทุกข์ได้จึงเที่ยวพร่ำเพ้อพิไรรำพัน บางองค์ตั้งสติได้แม้ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา แต่ใจนั้นรุ่มร้อน ไม่สามารถอดกลั้นความทุกข์ไว้ได้ 

      บุพนิมิตเหล่านี้จะมาปรากฏให้เห็นทั้งตนเอง และเทพเหล่าอื่นที่ได้เห็น ถ้าเป็นเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่ จะหลบอยู่แต่ในวิมาน ไม่กล้าออกมาให้ใครเห็น เมื่อครบ 7 วันในเทวโลก เทวดาที่มีจุตินิมิตปรากฏก็จะดับวูบไปเลย ส่วนจะไปเกิดที่ไหนก็แล้วแต่บุญบาปที่ตนสั่งสมไว้ เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ 

      ส่วนเทพผู้มีบุญมาก ที่ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต เมื่อรู้ว่าตนจะสิ้นอายุขัย จะไม่หวั่นกลัวต่อ มรณภัย คือมีความพร้อมเสมอสำหรับการเกิดใหม่ เพราะเคยสั่งสมบุญ ให้ทาน รักษาศีลไว้ดีแล้ว เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เมื่ออยู่เทวโลกก็มิได้ประมาทเที่ยวเพลิดเพลินเหมือนอย่างเทพองค์อื่น และมีความมั่นใจว่า เมื่อจุติแล้วจะต้องไปเกิดในภูมิที่สูงขึ้น หรือเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลสูง มีสัมมาทิฏฐิ เมื่อบุพนิมิตบังเกิดจะพากันไปสู่สวนนันทวัน ซึ่งเป็นอุทยานสวรรค์ มีแท่นจุติให้กับเหล่าเทพที่รู้ตัวว่าจะจุติ เหล่าเทพทั้งหลาย ที่ทราบข่าวก็จะพากันมาอวยพรให้บังเกิดในภูมิที่ดีมีสุข

      เรื่องราวของการอุบัติ และการจุติของเทวดา เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ที่มีเกิดและมีดับ เทวดาแม้จะสุขสบายเพียงไร แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีวันที่จะจุติ ละจากอัตภาพที่ตนดำรงอยู่เช่นกัน เทวดาทั้งหลายที่ยังตกอยู่ในความประมาท ไม่รู้เรื่องราวความจริงของชีวิตก็มาก หลงระเริงเพลิดสนุกสนานใน ทิพยสมบัติอันไม่จีรัง เมื่อวาระแห่งสุดท้ายของชีวิตมาถึง ย่อมเศร้าโศก พร่ำเพ้อพิไรรำพัน เรื่องนี้ก็เป็นแง่คิดที่ให้กับการดำรงชีวิตของเราท่านทั้งหลาย ไม่ให้ตกอยู่ในความประมาท หมั่นสั่งสมความดีงาม ฝึกฝนตนเองไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานให้ได้ 

------------------------------------------------------------------ 

2) จวมานสูตร, ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ, มก. เล่ม 45 ข้อ 261 หน้า 501.

Complete and Continue