7.1 ความเข้าใจเบื่้องต้นโลกุตตรภูมิ 1

บทที่ 7 โลกุตรภูมิ

ทิพยสมบัติใดๆ ก็ไม่อาจเทียบโลกุตรภูมิได้

 ในบทความที่ผ่านมาทั้งหลายนั้นท่านได้ทำความเข้าใจในเรื่องปรโลก อันเป็นสถานที่อยู่ของชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายหลังจากละโลกไปแล้ว อันเป็นสถานที่หมู่สัตว์ทั้งหลายจะต้องเวียนว่ายตายเกิด อย่างไม่รู้จักหมดสิ้น โดยมีมนุษยภูมิเป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างบุญและบาป อบายภูมิเป็นสถานที่รองรับผู้ที่สร้างบาปอกุศลหลังจากละโลกแล้ว เทวภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ เป็นสถานที่รองรับผู้ที่สร้างกุศลหลังจากละโลก แต่ภูมิทั้งหลายเหล่านั้นยังตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ ในภูมิที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จัดอยู่ในโลกิยภูมิ คือ ภูมิของปุถุชน ผู้ที่ยังท่องเที่ยวไปในภพ 3 มีทั้งสุขและทุกข์อย่างไม่มีวันที่สิ้นสุด

 7.1 ความเข้าใจเบื้องต้นเรื่องโลกุตรภูมิ ภูมิที่พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 ในบทนี้ท่านจะได้ทำความเข้าใจข้อมูลฐานในเรื่องของโลกุตรภูมิเสียก่อน เพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกันว่า มีความหมายอย่างไร มีศัพท์อะไรบ้างที่ต้องรู้ และทำความเข้าใจ เพื่อจะได้เข้าใจเนื้อหาของบทต่อๆ ไป

โลกุตรภูมิ ภูมิที่พ้นจากภพ 3

7.1.1 ความหมายของโลกุตรภูมิ

     โลกุตรภูมิ1) คือ ภูมิหรือชั้นที่พ้นจากภพ 3 คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ หมายถึง ระดับจิตของพระอริยบุคคลที่พ้นจากกิเลสโดยเด็ดขาดตามลำดับ และรวมถึงอมตมหานิพพานด้วย ได้แก่ มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1 หรือเรียกว่า โลกุตรธรรม 9 ซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน จำเป็นต้องรู้อย่างยิ่ง ไม่รู้ไม่ได้ ไม่รู้อันตราย ทั้งนี้เพราะเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต

ศัพท์ที่น่าศึกษา 

7.1.2 ศัพท์ที่น่าศึกษา

ศัพท์ที่มีความเกี่ยวข้องกับโลกุตรภูมิ ที่นักศึกษาต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นมีดังนี้

      ปุถุชน คือ ผู้ที่ยังหนาแน่นด้วยกิเลส คนที่มีกิเลสมาก หมายถึง คนธรรมดาทั่วไปที่ยังตกอยู่ในอำนาจกิเลส ทั้งโลภะ โทสะ และโมหะ รวมถึงเหล่าเทวดาที่ยังมิได้บรรลุธรรมในขั้นต่างๆ ด้วย

      อริยบุคคล คือ ผู้ไกลจากกิเลส หรือ บุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรค เป็นต้น ไม่ทำบาป อกุศลแม้เพียงเล็กน้อย สามารถสละชีวิตของตนได้เพื่อรักษาคุณธรรมเอาไว้ อีกทั้งมีความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ จึงได้รับการขนานนามว่า พระอริยเจ้า และไม่ว่าจะอยู่ในเพศภาวะของบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ เป็นมนุษย์หรือเทวดาก็เป็นพระอริยบุคคลได้เหมือนกัน 

อนุสัย คือ กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี 7 ประการ คือ

  • 1. กามราคะ ความกำหนัดยินดี
  • 2. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด
  • 3. ทิฏฐิ ความเห็นผิด
  • 4. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
  • 5. มานะ ความถือตัว
  • 6. ภวราคะ ความกำหนัดในภพ
  • 7. อวิชชา ความไม่รู้ 

สังโยชน์ คือ กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ หรือธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับ ทุกข์ มี 10 ประการ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ 5 ประการ ได้แก่

  • 1. สักกายทิฏฐิ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวถือตน
  • 2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
  • 3. สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นในศีลพรต
  • 4. กามฉันทะ ความพอใจในกามคุณ
  • 5. พยาบาท ความคิดแค้นผู้อื่น
  • และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูง 5 ประการ ได้แก่
  • 6. รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต
  • 7. อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม
  • 8. มานะ ความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่
  • 9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
  • 10. อวิชชา ความไม่รู้จริง

------------------------------------------------------------------------

  1) ภูมินานัตตญาณนิทเทส, ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, มก. เล่ม 68 ข้อ 175 หน้า 812.     

Complete and Continue