5.3.4 จตุตถฌานภูมิ 7 (35:43)

5.3.4 จตุตถฌานภูมิ 7

     เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้จตุตถฌาน ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ และสุทธาวาสภูมิ 5 ได้แก่ อวิหาภูมิ อตัปปาภูมิ สุทัสสาภูมิ สุทัสสีภูมิ อกนิฏฐาภูมิ

  • 10. เวหัปผลาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่มีผลไพบูลย์ คือเป็นผลของกุศลที่มั่นคงไม่หวั่นไหวเป็นพิเศษ ตามอำนาจของฌาน ผลของกุศลในชั้นปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ และตติยฌานภูมิ ไม่สามารถ บังเกิดในชั้นเวหัปผลาภูมิได้ เพราะเมื่อยามโลกถูกทำลาย ภูมิทั้ง 3 ระดับย่อมถูกทำลายไปด้วย ดังนี้
  • เมื่อโลกถูกทำลายด้วยไฟ ปฐมฌานภูมิ จะถูกทำลายไปด้วย
  • เมื่อโลกถูกทำลายด้วยน้ำ ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ จะถูกทำลายไปด้วย
  • เมื่อโลกถูกทำลายด้วยลม ปฐมฌานภูมิ ทุติยฌานภูมิ ตติยฌานภูมิ จะถูกทำลายหมด

แม้ว่าพรหมจะมีอายุยืนยาวมากก็ตามท้ายก็ต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น

      ในบรรดาพรหมทั้ง 9 ภูมิที่กล่าวมา สุภกิณหามีอายุยืนมากกว่าพรหมอื่นๆ ที่เกิดอยู่ในภูมิต่ำกว่า คือมีอายุขัยถึง 64 มหากัป โดยพรหมองค์ที่มีอายุเต็ม 64 มหากัป จะต้องเป็นองค์ที่อุบัติขึ้นพร้อมกับการสร้างโลกใหม่ ส่วนองค์ที่เกิดตามมาภายหลังย่อมมีอายุลดลงไปตามลำดับ เมื่อครบกำหนด 64 มหากัป ตติยฌานภูมินี้จะถูกทำลายด้วยลมทุกครั้งไป สำหรับเวหัปผลาภูมิ พ้นจากการถูกทำลายทั้งด้วยไฟ น้ำ และลม พรหมทุกองค์ที่บังเกิด ณ ที่นี้จึงมีอายุขัยได้เต็มที่ คือ 500 มหากัปเสมอไป

  •  11. อสัญญีสัตตาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ไม่มีนามขันธ์ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) มีแต่รูปขันธ์ คือ ดับความรู้สึกข้างนอกหมด ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น แต่กิเลสยังไม่ดับ มีรูปร่างผิวพรรณงดงามคล้ายพระพุทธรูปทองคำ มีอิริยาบถ 3 อย่าง คือ นั่ง นอน หรือยืน แล้วแต่อิริยาบถก่อนตายในชาติที่แล้วมา และจะอยู่ในอิริยาบถเดียวนิ่งๆ แข็งทื่ออยู่อย่างนั้นจนครบอายุขัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า พรหมลูกฟัก อสัญญีสัตตาพรหมนี้จัดว่าเป็นอาภัพพสัตว์ คือ ไม่สามารถตรัสรู้ได้ในชาตินั้น พรหมชั้นนี้มีอายุ 500 มหากัป เช่นเดียวกับเวหัปผลาภูมิ

จตุตถฌานภูมิทั้ง 2 นี้ตั้งอยู่กลางอากาศ สูงกว่าตติยฌานภูมิ พรหมใน 2 ชั้นนี้สามารถมองเห็นซึ่งกันและกัน และมองเห็นพรหมชั้นที่อยู่ต่ำกว่าได้ ส่วนพรหมชั้นต่ำกว่าไม่สามารถมองเห็นพรหมชั้นสูงได้

      รูปพรหมทั้ง 11 ชั้นที่กล่าวมานี้ แม้ว่าจะมีอายุยืนยาวมากก็ตาม ท้ายที่สุดจะต้องตายจากความเป็นพรหมด้วยกันทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคล อาจต้องไปเสวยทุกข์ในอบายภูมิก็เป็นได้ ทิพยสมบัติอิทธิฤทธิ์ รัศมีที่รุ่งเรือง การมีอายุยืนต่างๆ เหล่านี้ไม่สามารถช่วยตนเองได้เลย

เวหัปผลาพรหมโลก

การทำงานทางโลกทุกอย่างไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ จะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ต่างล้วนปรารถนาที่จะประสบผลสำเร็จกันทั้งนั้น เพราะความสำเร็จนำมาซึ่งความปลื้มปีติให้กับตัวเอง รวมทั้งคนรอบข้างด้วย ส่วนการทำงานทางใจ คือการฝึกฝนใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง จนได้บรรลุธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งภายใน ก็จะเป็นที่ยินดีปรีดาทั้งของมนุษย์และเทวาทั้งหลายเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ได้อีกด้วย งานทางใจจึงเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่างานทางโลก เป็นงานหลักของการเกิดมาเป็นมนุษย์ โดยมีเป้าหมายคือ จะต้องทำตนให้หลุดพ้นจากอาสวกิเลสเข้าสู่นิพพาน  

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน มหาโควินทสูตร ว่า

     "ถ้าพวกท่านละกามทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ปุถุชนข้องได้แล้ว จงปรารภความเพียรมั่นคง เป็นผู้มีขันติเป็นกำลัง ทั้งมีใจตั้งมั่นเถิด ทางนั้นเป็นทางตรง ทางนั้นเป็นทางยอดเยี่ยม เป็นพระสัทธรรม ที่พวกสัตบุรุษรักษาแล้ว เป็นไปเพื่อการเข้าถึงพรหมโลก"

    การจะวัดว่าใครมีโอกาสจะได้ไปสู่พรหมโลกบ้าง ท่านให้สังเกตที่จิตใจ ซึ่งไม่ข้องเกี่ยวและไม่ยึดติดในเบญจกามคุณทั้งหลาย คือสามารถสอนตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่า ความสุขที่ยิ่งใหญ่ไพศาลและยาวนานกว่าสุขของชาวโลกก็ดี ยิ่งกว่าสุขอันเป็นทิพย์ของชาวสวรรค์ก็ดี ยังมีอยู่อีก นั่นคือสุขอันเป็นพรหมสมบัติที่เกิดจากได้ฌานสมาบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อพุทธศาสนายังไม่ถือกำเนิดขึ้นในโลก ผู้รู้ทั้งหลายซึ่งมีภูมิรู้ภูมิธรรมในระดับหนึ่ง คือยังมีใจไปไม่ถึงกระแสพระนิพพาน ท่านมักจะสละชีวิตทางโลกด้วยการออกบวชประพฤติพรหมจรรย์ เป็นดาบส นักพรต ฤาษี ชีไพร หมั่นฝึกฝนอบรมจิตอยู่ตามป่าเขา ลำเนาไพร บางท่านเข้าไปในป่าหิมพานต์ มีผลหมากรากไม้และเผือกมันเป็นอาหาร บำเพ็ญตบะธรรมจนแก่กล้า ได้ฌานสมาบัติในระดับต่างๆ เป็นผู้ทรงอภิญญาที่สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ครั้นละโลกแล้วก็ไปสู่พรหมโลกชั้นต่างๆ ตามกำลังของฌานสมาบัติ

    * ในอโยคุฬสูตร มีข้อความที่น่าสนใจซึ่งกล่าวถึงพรหมโลกไว้ว่า สมัยหนึ่งพระอานนท์ได้ไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทราบอยู่หรือว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมพระวรกายอันสำเร็จแต่จิต” พระพุทธองค์ทรงตอบว่า “เราทราบอยู่ อานนท์ เราเข้าถึงพรหมโลกด้วยฤทธิ์ พร้อมทั้งกายอันสำเร็จแต่จิต”

    พระอานนท์ทูลถามต่อไปอีกว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงทราบอยู่หรือไม่ว่า พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระวรกายอันประกอบด้วยมหาภูติรูป ๔ นี้” พระพุทธองค์ก็ทรงตอบยืนยันเหมือนเดิม พระอานนท์ได้ฟังพุทธานุภาพแล้ว ก็ทูลสรรเสริญว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การที่พระองค์ทรงเข้าถึงพรหมโลกด้วยพระฤทธิ์ พร้อมทั้งพระวรกายอันสำเร็จแต่จิต และพระวรกายอันประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ นี้ เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ทั้งไม่เคยมีมาก่อนเลย พระเจ้าข้า”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้อัศจรรย์ และเป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรมอันน่าอัศจรรย์ เป็นผู้ไม่เคยมีมา และเป็นผู้ประกอบไปด้วยธรรมอันไม่เคยมีมา ดูก่อนอานนท์ สมัยใด ตถาคตตั้งกายไว้ในจิต หรือตั้งจิตไว้ที่กาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมฟ่องเบา อ่อนนุ่ม ควรแก่การงาน และผุดผ่องกว่าปกติ เปรียบเหมือนก้อนเหล็กที่เผาไฟอยู่ ย่อมเบากว่าปกติ อ่อนกว่าปกติ

   ดูก่อนอานนท์ สมัยที่ตถาคต ตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตไว้ในกาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาในกายอยู่ สมัยนั้น กายของเราตถาคตย่อมลอยขึ้นจากแผ่นปฐพี แล้วขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย เราตถาคตย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือ คนเดียวแสดงให้เป็นหลายคนก็ได้ หลายคนแสดงให้เป็นคนเดียวก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เปรียบเหมือนปุยนุ่นหรือปุยฝ้าย ซึ่งเป็นเชื้อธาตุที่เบา ย่อมลอยจากแผ่นดิน ขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย อุปมานี้ฉันใด ในสมัยที่เราตถาคตตั้งกายลงไว้ในจิต หรือตั้งจิตลงไว้ในกาย ก้าวลงสู่สุขสัญญาและลหุสัญญาอยู่ สมัยนั้น กายของเราตถาคต ย่อมลอยจากแผ่นปฐพี แล้วขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนอานนท์ สมัยนั้น กายของตถาคตย่อมลอยจากแผ่นดินขึ้นสู่อากาศได้โดยไม่ยากเลย ตถาคตย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง หรือใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้”

     นี่คือพุทธานุภาพอันไม่มีประมาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่หลวงพ่อได้ยกขึ้นมาเล่านี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดในพรหมโลกทั้งหมด และสามารถเสด็จไปสู่พรหมโลกได้ด้วยกายเนื้ออีกด้วย

      ครั้งนี้ เรามาถึงพรหมโลกชั้นที่ ๑๐ ซึ่งมีชื่อว่า เวหัปผลาภูมิ เป็นที่อยู่ของพรหมจำพวกหนึ่ง ซึ่งเสวยพรหมสมบัติที่เกิดจากอำนาจฌานสมาบัติที่มีผลอย่างไพบูลย์เต็มที่กว่าพรหมชั้นล่าง ก่อนอื่นหลวงพ่อขอทำความเข้าใจย้อนหลังเกี่ยวกับพรหมโลกชั้นล่างๆ ว่า ผลแห่งฌานกุศลที่ส่งให้ผู้ที่ได้ฌานสมาบัติไปเกิดในพรหมโลกทั้ง ๙ ชั้นที่กล่าวมาแล้วคือ ปฐมฌานภูมิทั้ง ๓ ซึ่งได้แก่ ปาริสัชชา ปุโรหิตา มหาพรหมา ทุติยฌานภูมิ ๓ ชั้น คือปริตตาภา อัปปมาณาภา อาภัสรา และตติยฌานภูมิ ๓ ชั้น มีปริตตสุภา อัปปมาณสุภา สุภกิณหา

    ผลของฌานกุศลที่ส่งให้ไปอุบัติในพรหมโลกทั้ง ๙ เหล่านี้ ไม่เรียกว่ามีผลไพบูลย์เต็มที่ ทั้งนี้สืบเนื่องจากเหตุผลตามสภาพธรรมที่เป็นจริง คือ เมื่อคราวที่โลกถูกทำลายด้วยไฟนั้น ปฐมภูมิฌานทั้ง ๓ ก็ถูกทำลายลงด้วย เมื่อคราวที่โลกถูกทำลายด้วยน้ำ ปฐมภูมิฌานทั้ง ๓ และทุติยฌานภูมิทั้ง ๓ รวมเป็น ๖ ภูมิ ก็ถูกทำลายลงด้วย ครั้นโลกถูกทำลายด้วยลม ลมบรรลัยกัลป์ได้ลุกลามไปถึงตติยฌานภูมิซึ่งมี ๓ ชั้น รวมเป็น ๙ พรหมภูมิทั้งหมดนี้ ก็ถูกทำลายลงด้วยไม่มีเหลือเลย

    เพราะฉะนั้นบรรดาพรหมทั้งหลายที่ไปอุบัติอยู่ในพรหมภูมิเหล่านี้ จะมีโอกาสเสวยสุขอันประณีตอยู่เต็มที่ตามขัยของอายุได้ ก็แต่เฉพาะพรหมที่เกิดขึ้นพร้อมกับโลกเริ่มสร้างเท่านั้น ส่วนพรหมที่เกิดภายหลังจากนั้นจะเสวยพรหมสมบัติอยู่จนเต็มอายุขัยไม่ได้ เนื่องจากพรหมวิมานในพรหมโลกนั้นๆ ได้ถูกทำลายลงแล้ว 

     ดังตัวอย่างเช่น ท่านที่ได้สำเร็จตติยฌานขั้นปณีตะ ครั้นตายไปแล้ว ก็ตรงไปอุบัติเกิดเป็นพรหมในชั้นสุภกิณหา ซึ่งเป็นชั้นตติยฌานภูมิ อายุขัยของสุภกิณหานั้น มีประมาณกำหนดว่าเป็นเวลา ๖๔ มหากัป สุภกิณหาพรหมที่จะมีอายุเต็ม ๖๔ มหากัปได้ ก็แต่เฉพาะพรหมที่เกิดขึ้นพร้อมกับโลกเริ่มสร้างเท่านั้น ถ้าเกิดหลังจากนั้น จะต้องมีอายุน้อยลงไม่ได้ผลเต็มที่ คือไม่ได้มีโอกาสอยู่ในพรหมโลกชั้นนี้เต็มตามอายุขัย เพราะมีกฏตายตัวอยู่ว่า ตติยฌานภูมินี้จะต้องถูกทำลายทุกๆ รอบ ๖๔ มหากัปเสมอ

    พรหมที่อยู่ในระดับปฐมภูมิฌาน ทุติยภูมิฌาน และในตติยภูมิฌานจะไม่มีโอกาสได้เสวยผลแห่งฌานกุศลอย่างไพบูลย์เต็มที่โดยทั่วกัน แต่เวหัปผลาภูมิ เป็นพรหมภูมิที่พ้นจากการทำลายล้างทุกๆ อย่าง ดังนั้น พรหมทุกๆ องค์ที่มาอุบัติเกิดในพรหมภูมินี้ จึงมีโอกาสได้เสวยพรหมสมบัติ เต็มตามอายุขัย

    นอกจากจะได้รับผลแห่งฌานกุศลของตนอย่างไพบูลย์เต็มที่แล้ว พรหมเหล่าเวหัปผลาภูมิ ยังมีความวิเศษของพรหมสมบัติ เช่น พรหมวิมานและรูปร่างก็มีความประเสริฐกว่าพรหมทั้งหลายในพรหมโลกทั้ง ๙ ที่ต่ำกว่าตนอีกด้วย เพราะว่าพรหมแต่ละองค์ล้วนแต่ทรงคุณวิเศษ ได้บำเพ็ญตบะธรรมมาอย่างกลั่นกล้า จนได้บรรลุจตุตถฌาน คือฌาน ๔ อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น จึงได้มีโอกาสมาอุบัติในพรหมโลกแห่งนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องราวของนักบวชผู้ได้บำเพ็ญสมาธิ(Meditation)ภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง จนได้รับผลแห่งสัมมาปฏิบัติในระดับฌานสมาบัติ แล้วมาบังเกิดในพรหมโลกชั้นต่างๆ ซึ่งหลวงพ่อขอจบที่พรหมโลกชั้นที่ ๑๐ ก่อน คราวต่อไปจะเล่าพรหมโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไป ให้ทุกท่านตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ แล้วเราจะแจ่มแจ้งในเรื่องของพรหมโลกในภาคปฏิบัติกันทุกคน

Complete and Continue