8.3 ความหมายของนิพพาน

ความหมายของนิพพาน

      ถ้อยคำที่เกี่ยวข้องกับนิพพานมีอยู่หลายคำ อาจจะเกิดข้อกังขาที่ทำให้เข้าใจสับสนได้ โดยเฉพาะในพระไตรปิฎกมีความหมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้หลายนัยด้วยกัน และอรรถถาจารย์ได้ให้ความหมายเพิ่มเติม ซึ่งจะขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจความหมายของนิพพานได้ในหลายแง่มุมมากขึ้น

 ก. ความหมายตามพระบาลีในพระไตรปิฎก คือ

  • ความหมายที่ 1 ความกำจัดราคะ ความกำจัดโทสะ ความกำจัดโมหะ นี้เป็นชื่อแห่งนิพพานธาตุ เพราะเหตุนั้น จึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ4)
  • ความหมายที่ 2 เพราะละตัณหาเสียได้ขาด จึงเรียกว่า นิพพาน5)
  • ความหมายที่ 3 ความสิ้นราคะ ความสิ้นโทสะ ความสิ้นโมหะ นี้เรียกว่า นิพพาน6)
  • ความหมายที่ 4 อนุปาทาปรินิพพาน แปลว่า ความดับสนิทสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ คือ ความพ้นพิเศษแห่งจิต เพราะไม่ถือมั่น7)
  • ความหมายที่ 5 ยากที่จะเห็นได้ซึ่งฐานะแม้นี้ คือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา คลายความกำหนัด ดับทุกข์8)

 ข. ความหมายตามอรรถกถา

  • ความหมายที่ 1 พระนิพพาน ท่านเรียกว่า โพธิ9)
  • ความหมายที่ 2 นิพพาน ชื่อว่า วิมุตติ เพราะพ้นแล้วจากสังขตธรรมทั้งปวง10)
  • ความหมายที่ 3 พระนิพพาน ชื่อว่า สุญญตะ อนิมิตตะ และอัปปณิหิตะ เพราะว่างเปล่าจากราคะ เป็นต้น และเพราะไม่มีราคะเป็นต้น เป็นเครื่องหมาย และเป็นที่ตั้งอาศัย11)

 จากความหมายทั้งในพระบาลีและในอรรถกถา สามารถสรุปความหมายของนิพพานได้ดังนี้

      นิพพาน หมายถึง ความสงบ ว่างเปล่าจากขันธ์ห้าและกิเลสอาสวะอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง จากความหมายนี้ บ่งบอกความว่า ธรรมชาติใดที่ไม่มีขันธ์ห้า และไม่มีกิเลสอาสวะตัณหา ธรรมชาตินั้น จัดเป็นนิพพานได้ จะโดยปริยาย(เทียบเคียง) หรือโดยนิปปริยาย(โดยแท้จริง) ก็ตาม เพราะเป็นสภาวะที่เข้ากันได้โดยเหตุที่ไม่มีกิเลสอาสวะ เป็นต้น

       ธรรมชาติที่หมายถึงนิพพานดังกล่าวนี้ เมื่อประมวลรวมตามพระบาลีที่ยกมาแสดงและของท่านผู้รู้เห็นในปัจจุบันนี้ พอจะแบ่งได้เป็น 3 ประการ คือ

  • 1. จิตที่หลุดพ้น คือ จิตที่รับรู้สภาวะนิพพานได้
  • 2. ผู้หลุดพ้น คือ ผู้เข้าถึงนิพพาน ได้แก่ พระโสดาบันจนถึงพระอรหันต์
  • 3. สภาวะที่หลุดพ้น คือ สภาพของพระนิพพานโดยแท้จริง

เมื่อนักศึกษาได้อ่านพระไตรปิฎก หรือคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา หากพบคำที่มีลักษณะทั้ง 3 ดังที่กล่าว ให้นักเรียนทราบว่า นั่นคือความหมายของนิพพานเช่นเดียวกัน


4) ทุติยภิกขุสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 30 ข้อ 31 หน้า 22.

5) สัญโญชนสูตร, สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่ม 24 ข้อ 185 หน้า 288.

6) นิพพานปัญหาสูตร, สังยุตตนิกาย สฬายตนมรรค, มก. เล่ม 29 ข้อ 497 หน้า 88.

7) จูฬสงคราม, พระวินัยปิฎก ปริวาร, มก. เล่ม 10 ข้อ 1084 หน้า 689-690.

8) โพธิราชกุมารสูตร, มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์, มก. เล่ม 21 ข้อ 509 หน้า 119.

9) เวรัญชกัณฑวรรณนา, ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล พระวินัยปิฎก, มก. เล่ม 1 หน้า 240.

10) สัจฉิกาตัพพนิทเทส, อรรถกถาขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, มก. เล่ม 68 หน้า 396.

11) อรรถกถาสังคีติสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 16 หน้า 321.

Complete and Continue