โสฬสญาณ (16:50)

โสฬสญาณ

ความสุขและความบริสุทธิ์เกิดขึ้นจากการทำทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา แต่มีวิธีลัดคือ ใจของเราต้องหยุดนิ่งอยู่ภายในศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นฐานที่ตั้งถาวรของใจ ตรงนี้เป็นต้นแหล่งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย หากสามารถวางใจ ของเราให้ได้ตลอดเวลา กระแสบุญและความบริสุทธิ์จะหล่อเลี้ยงใจของเราตลอดเวลา และเมื่อความบริสุทธิ์กลั่นตัวกันมากเข้า ความสุขที่แท้จริงก็จะบังเกิดขึ้นตามมา ความสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งนี้ เป็นสิ่งเดียวที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งเห็นจริงภายใน และเป็นพลวปัจจัยที่จะส่งผลให้เราได้บรรลุธรรมาภิสมัย คือได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ชฏาสูตร ว่า
"สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
อาตาปี นิปโก ภิกฺขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ
    นรชนผู้มีปัญญา ตั้งมั่นแล้วในศีล อบรมจิตและปัญญาให้เจริญอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีปัญญารักษาตนรอด ภิกษุนั้นพึงถางชัฏนี้"

    การจะถางชัฏคือตัณหาได้ ต้องอาศัยศีลที่บริสุทธิ์ หมั่นอบรมจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส อีกทั้งต้องใช้สติปัญญาพิจารณาข้อบกพร่อง และต้องมีความเพียรพยายามไม่หยุดยั้ง ทำใจหยุดในหยุดเรื่อยไป จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพาน การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีโอกาสบรรลุถึงโลกุตตรภูมินี้ มิใช่ว่าอยู่ๆ และจะทึกทักเอาว่า ได้บรรลุขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว โดยไม่ต้องอาศัยการปฏิบัติอะไรเลย ไม่ใช่อย่างนั้น ที่แท้ต้องเป็นผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ เป็นผู้อบรมอินทรีย์ และต้องเป็นผู้มีบุญได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา มีใจประกอบไปด้วยศรัทธา เห็นภัยในวัฏสงสาร จึงมุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน มีอุตสาหะวิริยะในการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา ที่สำคัญคือต้องปฏิบัติตามแนวอริยมรรคในทางพุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะได้เข้าถึงพระนิพพาน เพราะถ้ายังเป็นสมาธินอกตัว ก็ยังต้องวนอยู่ในวัฏฏะ จะสลัดให้หลุดจากวัฏฏะก็ต้องดำเนินจิตเข้าสู่กลางของกลางภายในอย่างเดียว

* เมื่อนักปฏิบัติธรรมได้บำเพ็ญกรรมฐานเป็นสัมมาปฏิบัติ ครั้นอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาแก่กล้าถูกส่วน สภาวญาณก็จะเกิดขึ้น และก้าวหน้าขึ้น ตามลำดับของวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ที่เรียกว่า โสฬสญาณ นี่เป็นการกล่าวตามหลักปริยัติของพระวิปัสสนาจารย์ทั่วไปก่อน

    นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ทำให้เกิดมีปรีชากำหนดรู้นามรูปได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ให้รู้จักตนเอง ว่ารูปนามนี้เป็นของตัวเรา แต่ไม่ใช่ตัวของเรา ปัจจยปริคคหญาณ เป็นญาณที่กำหนดรู้เหตุ รู้ผลของรูปนาม รู้ว่ารูปนามทั้ง ๒ นี้ ต่างก็เป็นปัจจัยคือเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ทำให้เห็นรูปนามเป็นไปตามอำนาจของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้ว ไตรลักษณ์จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

    อุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่รู้เห็นความเกิดดับของรูปนามทั้งหมด ภังคญาณ เป็นญาณที่ทำให้เกิดมีปรีชาหยั่งรู้เห็นรูปนามแตกดับไป และเสื่อมสลายหายไปเรื่อยๆ เมื่อได้บรรลุถึงญาณนี้แล้ว รูปนามจักแสดงอาการแตกสลายไปให้ปรากฏชัดเจน ภยญาณ สามารถเข้าใจถึงรูปนามว่าเป็นภัย คือเป็นสิ่งที่น่าเกรงกลัว ไม่ใช่สิ่งที่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อบรรลุญาณนี้แล้ว รูปนามจะแสดงสภาวะที่น่ากลัวให้เห็นอย่างแจ่มชัด

    อาทีนวญาณ ญาณหยั่งรู้รูปนามเป็นอาทีนวโทษ คือรู้ว่าตราบใดที่ยังยึดติดในรูปนามขันธ์ ๕ ตราบนั้นก็ย่อมเป็นทางมาของโทษภัยอีกมากมาย นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่ทำให้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนาม การที่จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายในสังสารวัฏ ไม่ปรารถนาที่จะไปเกิดในภพภูมิใดๆทั้งสิ้น จะมารู้สึกเบื่อหน่ายเอาอย่างจริงจังในตอนที่บรรลุถึงนิพพิทาญาณ

    มุญจิตุกัมยตาญาณ เป็นญาณที่ใคร่จะหลุดพ้นไปจากรูปนาม ใคร่จะออกจากวัฏสงสารเป็นที่สุด โลกหรือภูมิ ต่างๆ แม้จะดีวิเศษสักเพียงไหนก็ไม่อยากอยู่ทั้งนั้น อยากถึงพระนิพพานอย่างเดียว ในใจจึงมีแต่พระนิพพานเป็นอารมณ์ ปฏิสังขาญาณ สามารถพิจารณากำหนดไตรลักษณ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิจารณาเข้าสู่พระนิพพาน ทั้งนี้เพราะการจะไปถึงพระนิพพานได้นั้น จะต้องพิจารณาเห็นไตรลักษณ์อย่างละเอียดละออเสียก่อน 

    สังขารุเปกขาญาณ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นสำคัญ ที่จะทำให้เกิดมีปรีชากำหนดวางเฉยในรูปนาม ไม่มีความยินดียินร้ายในสังขารและอารมณ์ทั้งหมด ผู้ได้บรรลุถึงญาณนี้ จิตจะถึงสภาวะที่เรียกว่ามีความสงบเป็นอย่างยิ่ง สมาธิญาณถึงขั้นสูงสุด เพราะว่าสังขารุเปกขาญาณเป็นยอดแห่งโลกิยญาณ เพราะฉะนั้น ถ้าหากวาสนาบารมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ผู้ปฏิบัติก็จะติดขัดอยู่เพียงแค่นี้ สภาวญาณไม่ก้าวหน้าขึ้น แต่ถ้าหากมีบุญบารมีเคยสร้างสมอบรมเอาไว้ สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลในชาตินี้ และอินทรีย์ทั้ง ๕ ถึงภาวะแก่กล้าเต็มที่ ก็จะก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อไป

    อนุโลมญาณ เป็นญาณที่จะก้าวขึ้นสู่โลกุตตรภูมิขั้นต้น และมีสภาวะแห่งอริยมรรคญาณ โคตรภูญาณ เป็นญาณที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวเข้าสู่โลกกุตตรภูมิ หรือ เป็นญาณที่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะก้าวเข้าสู่ประตูพระนิพพาน มองเห็นอายตนนิพพานได้ชัดเจน โดยประหารโคตรปุถุชนให้ขาดได้ ในขณะที่เข้าถึงโคตรภูญาณนี้ ธรรมกายโคตรภูจะปรากฏชัดใสแจ่มอยู่ในกลางกายของผู้ที่เข้าถึง หากไม่ประมาท หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอยู่ในกลางพระธรรมกายภายใน สภาวธรรมก็จะเลื่อนลำดับชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ

    มรรคญาณ หมายถึงได้บรรลุโลกุตตรภูมิขั้นต้น อริยมรรคบังเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นอริยมรรคหรือมรรคญาณขั้นที่หนึ่งเรียกว่า โสดาปัตติมรรค พอโสดาปัตติมรรคเกิดขึ้น ก็ประหารอนุสัยกิเลสที่หมักดองอยู่ในใจในเบื้องต้นได้ ผลญาณ เป็นญาณที่เสวยผลอันประเสริฐของโลกุตตรภูมิขั้นต้น เมื่อเข้าถึงก็ซาบซึ้งในรสของอมตมหานิพพาน เป็นสุขที่เกิดจากการได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้นไป จนกระทั่งได้บรรลุถึงอรหัตผล นับเป็นการเสวยสุขหรือเสวยผลที่เกิดจากการบำเพ็ญวิปัสสนาที่ตนปรารถนามายาวนาน

    ญาณสุดท้าย คือ ปัจจเวกขณญาณ เป็นวิปัสสนาญาณสุดท้าย บังเกิดขึ้นเพื่ออำนวยให้ผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาดูว่า ตนละกิเลสอะไรได้บ้าง หรือหมายถึง การพิจารณาตรวจตราดูอนุสัยที่อิงแอบอาศัยอยู่ในขันธสันดาน ว่าหลุดออกจากใจได้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษแล้วหรือยัง อย่างเช่น โสดาปัตติมรรคสามารถฆ่าอนุสัยกิเลส ๓ ตัว คือทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และสีลัพพตปรามาส ถ้าได้บรรลุสกทาคามิมรรค จะทำให้กามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยเบาบางลง

    เมื่อได้บรรลุอนาคามิมรรค มรรคญาณนั้นจะกำจัดกามราคานุสัย และปฏิฆานุสัยได้อย่างเด็ดขาด เป็นพระอนาคามีบุคคล ผู้เสวยสุขซึ่งเกิดจากนิโรธสมาบัติ ไม่ต้องอาศัยความสุขที่เกิดจากเบญจกามคุณอีกต่อไป และเมื่อได้บรรลุอรหัตมรรค อรหัตมรรคญาณก็จะขจัดสรรพกิเลสทั้งหลายซึ่งหมักดองอยู่ในขันธสันดานให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง ทั้งอนุสัยกิเลสในรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชาก็จะหลุดไปจากใจ เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสอาสวะทั้งปวง

    นี่คือหลักของโสฬสญาณย่อๆ ที่พระวิปัสสนาจารย์ได้กล่าวเอาไว้ บางท่านอาจยังไม่ค่อยเข้าใจก็ไม่ต้องไปกังวล เพราะนั่นเป็นเพียงหลักทฤษฏี ส่วนภาคปฏิบัติก็ให้ยึดหลักหยุดกับนิ่งเป็นหลัก ถ้าใจของเราหยุดนิ่งอยู่ที่กลางกายได้อย่างสนิท แสดงว่าเราได้เดินมาถูกทางพระนิพพานกันแล้ว หยุดนิ่งไม่มีอะไรซับซ้อน มีแต่ชัดเจนแจ่มใส เพราะฉะนั้น เหนือสิ่งอื่นใดที่เราต้องรีบทำกัน คือทำใจให้หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายให้ได้ แล้วทางไปสู่นิพพานจะไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะทางนั้นอยู่ในตัวของเรานี่เอง ดังนั้นให้ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้กันทุกคน


* โลกุตตรภูมิ , ภูมิวิลาสินี (พระพรหมโมลี)

Complete and Continue