3.1 พระโพธิสัตว์ และพระบรมโพธิสัตว์

3.1 พระโพธิสัตว์ และพระบรมโพธิสัตว์

จุดเริ่มต้นของความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือ ตั้งแต่ในภพชาติแรกที่ทรงตั้งความปรารถนาในการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทรงมุ่งหน้าสร้างบารมีเรื่อยมา จนกระทั่งถึงพระชาติสุดท้ายที่ได้มาตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดั่งที่พระองค์ได้ทรงตั้งความปรารถนาเอาไว้


ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่มีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่เฉกเช่นเดียวกันกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีหัวใจอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง มีความเพียรพยายาม และมีความอดทนอดกลั้นไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง แม้จะต้องแลกมาด้วยชีวิต บุคคลผู้นั้นก็จะได้ “เนมิตกนาม”-ซึ่งถือเป็นนามที่เกิดขึ้นจากคุณธรรมของบุคคลผู้นั้นว่า “พระโพธิสัตว์”


สำหรับคำว่า “พระโพธิสัตว์” ประกอบขึ้นจากคำสามคำ คือ

พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ

โพธิ แปลว่า การตรัสรู้

สัตว์ หมายถึง สัตว์โลกทั้งหลาย


ดังนั้น เมื่อเรานำคำทั้งสามคำมารวมกัน จึงกลายเป็นคำว่า “พระโพธิสัตว์”-ซึ่งหมายถึงบุคคลผู้ที่มีหัวใจอันประเสริฐ และมีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ โดยมุ่งที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะได้รื้อสัตว์ขนสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารไปพร้อมๆกัน

บุคคลที่มีความปรารถนาอันยิ่งใหญ่เช่นนี้ (กล่าวคือ มีความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต)-เมื่อสั่งสมบารมียังไม่แก่รอบหรือยังไม่มากพอ เราก็จะเรียกแบบปกติทั่วไปว่า “พระโพธิสัตว์”-แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่บารมีเริ่มแก่กล้า (กล่าวคือ มีกำลังบารมีใกล้ที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)-เราก็จะเรียกพระโพธิสัตว์ท่านนั้นว่า “พระบรมโพธิสัตว์”

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด พระโพธิสัตว์จึงถือเป็นบุคคลผู้ที่มีจิตใจยิ่งใหญ่มหาศาลเกินเปรียบ เพราะในระหว่างที่พระโพธิสัตว์กำลังเริ่มสั่งสมบารมีอยู่นั้น ตัวของท่านเองก็ยังไม่รู้หนทางที่จะออกจากทุกข์ว่าจะต้องทำอย่างไร และจะต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานขนาดไหน แต่ท่านรู้แค่เพียงว่า “ในสักวันหนึ่ง ท่านจะต้องออกจากคุกแห่งวัฏสงสารไปให้ได้ เมื่อออกจากคุกแห่งวัฏสงสารนี้ได้แล้ว ท่านจะขอเป็นผู้นำ ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากห้วงแห่งทุกข์ไปพร้อมๆกับท่านให้จงได้”

ด้วยความที่พระโพธิสัตว์เป็นบุคคลผู้ที่มีจิตใจยิ่งใหญ่มหาศาลเกินเปรียบนี้เอง จึงได้มีผู้อุปมาเปรียบเทียบมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์เอาไว้ว่า “หากแม้ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้จะเต็มไปด้วยป่าไผ่ที่มีเรียวหนามอันแหลมคม ซึ่งมีระยะทางไกลถึงหนึ่งล้านสองแสนสามหมื่นสี่ร้อยห้าสิบโยชน์ พระโพธิสัตว์ก็จะมุ่งหน้าเหยียบย่ำบุกฝ่าขวากหนามอันแหลมคมด้วยเท้าเปล่า จนไปถึงที่สุดของปลายทาง”



Complete and Continue