3.5 คุณสมบัติพิเศษของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่มีเป้าหมายอันเด็ดเดี่ยวมั่นคง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่มีน้ำใจอันเต็มเปี่ยม และมีมหากรุณาอันหาที่เปรียบมิได้นี้เอง จึงทำให้พระโพธิสัตว์มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวอยู่ 10 ประการด้วยกัน ซึ่งคุณสมบัติพิเศษทั้ง 10 ประการนี้ ถือเป็นความดีอันยิ่งใหญ่เฉพาะตัวของเอกบุรุษที่ไม่สามารถหาผู้ใดจะมาเสมอเหมือนได้

ข้อที่ 1 ได้แก่ อะเคธะตา คือ ความไม่ติดอยู่ในของรักของชอบของผู้อื่น หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีใจมุ่งไปสู่หนทางแห่งพระนิพพานเป็นหลัก สิ่งอื่นนอกเหนือจากนี้จะไม่มีติดอยู่ภายในใจของท่านเลยแม้แต่น้อย ถ้าจะติดก็ติดอยู่เพียงแค่เรื่องเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ...ติดอยู่กับการสร้างบุญสร้างบารมี เพื่อที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข้อที่ 2 ได้แก่ นิราละยะตา คือ ความไม่อาลัยเกี่ยวข้องในสิ่งของภายนอก หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีใจมุ่งไปสู่ความบริสุทธิ์หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทั้งหลายในชีวิต ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น คน สัตว์ หรือสิ่งของ ที่ชาวโลกทั้งหลายต่างก็หลงใหลได้ปลื้ม พระโพธิสัตว์ก็จะไม่หลงยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น เพราะทุกๆสิ่งทุกๆอย่างบนโลก ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ใจไม่เป็นอิสระ และเป็นเหตุที่ทำให้มนุษย์ทุกคนต้องติดอยู่ในภพ กล่าวคือ ยากที่จะทำให้จิตให้หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลศทั้งหลายได้

ข้อที่ 3 ได้แก่ จาโค คือ ความเสียสละ การแบ่งปัน หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีความยินดีในการเป็นผู้ให้มากกว่าที่จะเป็นผู้รับ เพราะอัธยาศัยโดยปกติของพระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่เกิดมาเพื่อสละความตระหนี่ออกจากใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ในทุกๆชาติที่ท่านเกิดมาสร้างบารมี ท่านจึงได้สละทรัพย์ สละอวัยวะ หรือแม้กระทั่งสละชีวิตของตัวท่านเองให้แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์สุขอย่างยิ่งของตัวท่านเอง และมวลมนุษย์ชาติทั้งหลาย นั่นก็คือ...การได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต ด้วยเหตุนี้เอง...พระโพธิสัตว์จึงถือเป็นสุดยอดของบุคคลที่มีความเสียสละ และเป็นนักสังคมสงเคราะห์ของโลกและจักรวาลอย่างแท้จริง

ข้อที่ 4 ได้แก่ ปะหานัง คือ ความปล่อยวาง หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่สามารถปล่อยวางเรื่องราวต่างๆที่มากระทบใจได้อย่างง่ายดาย เพราะโดยปกติแล้ว พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีใจไม่ผูกโกรธใคร ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ถือสาหาความใคร และไม่เอาเรื่องใครเลยแม้แต่น้อย จะมีก็แต่อารมณ์ที่อยากจะสั่งสมบุญสร้างบารมีให้ยิ่งๆขึ้นไปเพียงอย่างเดียว

ข้อที่ 5 ได้แก่ อะปุนะราวัตตินา คือ ความไม่คิดกลับกลอก หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่ไม่มีความคิดกลับกลอกไปมา เพราะโดยปกติแล้ว พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีสัจจะประจำใจ กล่าวคือ เป็นคนจริง ไม่หน้าไหว้หลังหลอกเหมือนบางคนในโลกทั่วๆไป คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้น และทุกคำพูดหรือทุกการกระทำของพระโพธิสัตว์ จะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขต่อตัวท่านเองและชาวโลกเท่านั้น ดังนั้น สำนวนไทยที่ว่า “ปากไม่ตรงกับใจ”-จึงไม่สามารถนำมาใช้กับพระโพธิสัตว์ได้

ข้อที่ 6 ได้แก่ สุขุมัตตา คือ ความละเอียดรอบคอบ หมายความว่า พระโพธิสัตว์จะเป็นผู้ที่มีความละเอียดรอบคอบช่างสังเกต และเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบที่ดี ไม่ประมาทเลินเล่อ จนเป็นเหตุให้เสียการเสียงาน และเสียเวลาในการสร้างบารมี เพราะเวลาทุกอนุวินาทีของพระโพธิสัตว์นั้นมีค่าเป็นอย่างยิ่ง

ข้อที่ 7 ได้แก่ มะหันตัตตา คือ ความเป็นของใหญ่ หมายความว่า พระโพธิสัตว์เป็นผู้มีความคิดที่ยิ่งใหญ่ และมีใจที่กว้างใหญ่ไพศาลไม่มีประมาณ ประดุจดั่งความกว้างใหญ่ของท้องมหาสมุทร อันเนื่องมาจากท่านได้มองเห็นถึงประโยชน์สุขที่จะเกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติเป็นอย่างมากที่สุด

ข้อที่ 8 ได้แก่ ทุรานุโพธัตตา คือ ความเป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปจะรู้ตามได้ยาก หมายความว่า ท่านเป็นผู้ที่มีความคิดเหนือกว่าวิสัยของบุคคลทั่วไปจะคิดได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะพระโพธิสัตว์ประกอบด้วยจิตใจที่สูงส่ง มีความกล้าที่จะคิดและกล้าที่จะทำในสิ่งที่ดีงาม

ข้อที่ 9.ได้แก่ ทุลละภัตตา คือ ความเป็นผู้ทำในสิ่งที่คนทั่วไปทำได้ยาก หมายความว่า ท่านมีความสามารถในการที่จะทำเรื่องใหญ่ๆ ยากๆ ให้เป็นเรื่องเล็กๆและง่ายๆได้ ซึ่งไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะยากเย็นแสนเข็ญสักปานใด แต่เมื่อเรื่องเหล่านั้นมาถึงมือของพระโพธิสัตว์แล้ว ท่านก็สามารถที่จะทำเรื่องเหล่านั้นให้สำเร็จได้อย่างดีเยี่ยมในทุกๆครั้ง

ข้อที่ 10.ได้แก่ อะสะทิสะตา คือ ความเป็นของไม่มีใครเสมอ หมายความว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนได้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะท่านเป็นผู้นำในการสร้างบารมี ที่มีความคิด คำพูด และการกระทำที่ประเสริฐเหนือกว่าคนอื่นเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีลักษณะของความเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ว่าท่านจะถือกำเนิดเกิดมาเป็นอะไรก็ตาม ลักษณะของความเป็นผู้นำนี้ก็จะติดตัวท่านมาโดยตลอด จนกระทั่ง ท่านได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด

 




Complete and Continue