3.9 พุทธการกธรรม

 

3.9 พุทธการกธรรม

ในการสั่งสมบุญสร้างบารมีเพื่อที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์แต่ละท่านจะต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น มีความเพียรพยามอย่างแรงกล้า และมีความอดทนอย่างมากในการสร้างบารมี อีกทั้งท่านจะต้องเป็นผู้ที่ประกอบด้วยหลักธรรมอันสำคัญที่เรียกว่า พุทธการกธรรม (อ่านว่า พุด-ทะ-กา-ระ-กะ-ทำ)-หรือ ธรรมสำหรับบ่มพระโพธิญาณ ซึ่งก็คือ ธรรมที่จะทำให้ท่านเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 สำหรับพุทธการกธรรมนี้ ถือเป็นธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ เพราะถ้าหากพระโพธิสัตว์ปราศจากพุทธการกธรรมแล้ว ท่านก็ไม่สามารถที่จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตได้ ซึ่งพุทธการกธรรมที่กล่าวถึงนี้ก็คือ บารมีทั้งสิบทัศ ที่พวกเรารู้จักกันโดยทั่วไปนั่นเอง

ส่วนคำว่า บารมี มาจากคำว่า ปูระธาตุ ที่แปลว่า “เต็มเปี่ยมสูงสุดหรือสมบูรณ์ที่สุด”-ซึ่งหมายความว่า ในการสร้างบารมีเพื่อที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระโพธิสัตว์แต่ละท่านจะต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรมนี้ให้ครบถ้วนและเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ทุกประการ โดยที่จะขาดบารมีข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้เลย และที่สำคัญ ความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะพระโพธิสัตว์ได้ทุ่มเทสั่งสมบุญสร้างบารมีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ชนิดที่เรียกว่า เอาชีวิตเป็นเดิมพัน กันเลยทีเดียว

จากการที่พระโพธิสัตว์ได้ทุ่มเทสั่งสมบุญสร้างบารมีมาอย่างตลอดต่อเนื่อง จึงเป็นผลทำให้บุญของท่านเพิ่มปริมาณมากขึ้นไปเรื่อยๆอย่างตลอดต่อเนื่องเช่นกัน และเมื่อบุญของท่านมีปริมาณมากเข้า...มาเข้า ก็จะเกิดการกลั่นตัวจาก ดวงบุญ กลายเป็น ดวงบารมี ที่มีความใส สะอาด บริสุทธิ์มากยิ่งๆขึ้นไป ซึ่งเมื่อพระโพธิสัตว์ได้สั่งสมบุญสร้างบารมีจนกระทั่งบารมีทั้งสามสิบทัศเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ท่านก็จะตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตในที่สุด

 ด้วยความที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เอง จึงทำให้ท่านสามารถที่จะกำจัดกิเลสอาสวะที่มีอยู่ในใจให้หมดสิ้นไปได้อย่างสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ อีกทั้งยังสามารถที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากห้วงวัฏสงสารแห่งความทุกข์ ไปสู่ฝั่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุขตามท่านไปได้อีกด้วย

 และถ้าหากจะกล่าวถึงบารมีในเชิงปฏิบัติ ก็สามารถที่จะอธิบายความหมายโดยสังเขปได้สองประการ ดังต่อไปนี้ คือ

ประการที่ 1.บารมี ก็คือ บุญ นั่นเอง แต่ว่าเป็นบุญที่มีคุณภาพพิเศษที่เกิดจากการกลั่นตัวมาจากบุญอีกทีหนึ่ง จึงทำให้บารมีนี้มีลักษณะที่สะอาด บริสุทธิ์ ผ่องใส เป็นอย่างมาก โดยที่บารมีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นได้ทำความดีอย่างยิ่งยวดชนิดที่เรียกว่า เอาชีวิตเป็นเดิมพัน กันเลยทีเดียว

  ซึ่งการทำความดีอย่างยิ่งยวดชนิดที่เรียกว่าเอาชีวิตเป็นเดิมพันนั้น ก็คือ การทำความดีอย่างสุดความรู้ความสามารถของตนเอง โดยการทุ่มเททำความดีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง อีกทั้งยังประกอบด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จให้ได้ โดยไม่มีความหวั่นไหวหรือย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายที่เข้ามาขัดขวางต่อการทำความดีเลย ถึงแม้ว่าความสำเร็จนี้อาจจะต้องแลกมาด้วยชีวิต ก็ไม่ได้คิดที่จะยอมแพ้หรือหวาดหวั่นต่อมรณภัยเลยแม้แต่น้อย แต่กลับคิดที่จะสู้ทำความดีให้ถึงที่สุดจนกว่าจะถึงฝั่งแห่งชัยชนะ

 

ประการที่ 2.บารมี คือ นิสัยทุ่มเททำความดีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งนิสัยของแต่ละบุคคลเกิดขึ้นได้จากการที่บุคคลนั้น ได้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เป็นประจำ จนเป็นผลทำให้เกิดความคุ้นเคยกับสิ่งนั้น แล้วต่อมาก็จะเกิดความเคยชินกับสิ่งนั้น และในที่สุดสิ่งนั้นก็จะกลายมาเป็นนิสัยที่ติดตัวบุคคลนั้นไปข้ามภพขามชาติ ดังนั้น การที่บุคคลใดได้หมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ และได้ทุ่มเททำอย่างเต็มที่เต็มกำลังแล้ว ก็จะทำให้บุคคลนั้นมีนิสัยรักในการทำความดีอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

ดังนั้น เมื่อนำความหมายของคำว่า บารมี ในเชิงปฏิบัติทั้งสองประการมารวมกันแล้ว ก็สามารถที่จะสรุปออกมาได้ว่า บารมี หมายถึง การทำความดีอย่างยิ่งยวด หรือการทำความดีอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ชนิดที่เรียกว่า เอาชีวิตเป็นเดิมพัน อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยดีๆที่ติดแนบแน่นเข้าไปอยู่ในใจอย่างมั่นคง และด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นผลทำให้สามารถที่จะกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดไปจากใจได้ในที่สุด

 






Complete and Continue