3.จิตตะ ใจจดจ่อ ทางสว่าง สงบ

จิตตะ

           จิตตะ หมายถึง มีใจจดจ่อในสิ่งนั้นไม่วางธุระ ไม่วอกแวก เรียกว่า ตั้งใจทำ ไม่ใช่ว่าขยันแต่ไม่ตั้งใจทำ ไม่ใช่ว่าขยัน ไปอย่างนั้น ใจคิดโน่นคิดนี่ งานก็ไม่เกิด แม้เกิดก็ไม่เต็มที่ คนที่ขาดจิตตะ เปรียบเหมือนน้ำประปาที่ไหลๆ หยุดๆ เปิดน้ำไหลกะปริบกะปรอย รองน้ำตั้งนานกว่าจะเต็มโอ่ง เพราะความที่มันคอยฟุ้งซ่าน บางตอนมันก็คิด ซักพักก็ไปฟุ้งถึงเรื่องอื่น กว่าจะได้ผลงานน้ำสักโอ่งรอตั้งนาน แต่ความคิดของคนมีจิตตะ ความคิดของเขาจะไหล เห็นโล่งโปร่ง เปรียบเหมือนน้ำก็ไหลโจ๊ก พักเดียว เต็มโอ่งเลย ไม่มีขาด ไม่มีหยุด ความมีจิตผูกพันจดจ่อในการงานนั้นๆ ทำได้เต็มกำลังเต็มแรง ใช้เวลาเท่ากันแต่ประสิทธิภาพประสิทธิผลของงานอาจแตกต่างกันหลายเท่าตัว

        การทำงานของจิตตะ เป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ซึ่งคนที่มีจิตตะอย่างสมบูรณ์ไม่ว่าจะกระทำกิจอันใด ก็จะพัฒนาแนวทางการทำกิจกรรมนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไปจนกว่า จะสำเร็จ ลักษณะการทำซ้ำๆ บ่อยๆ เป็นลักษณะที่สำคัญของจิตตะ

        การทำสมาธิซ้ำๆ จนเกิดเป็นนิสัย ขาดไม่ได้ ซึ่งเป็นการแสดงว่าคนๆ นั้น มีจิตตะที่สมบูรณ์ ซึ่งจะแตกต่างจากวิริยะที่เป็นความกล้าในการเปลี่ยนแปลง แต่จิตตะเป็นการตอกย้ำซ้ำๆ ในงานนั้นๆ เหมือนกับการตีทำลายหินที่ขวางทางน้ำ ซึ่งกว่าจะได้น้ำก็ต้องเอาค้อนตีซ้ำๆ ลงไป การตีก้อนหินใหญ่ในแต่ละครั้งนั่นเอง หมายถึง ความสำเร็จที่รออยู่ จนในที่สุดการตีบ่อยๆ นั้น ก็ทำหินแตกได้น้ำมากิน การทำสมาธิก็เช่นกัน เมื่อทำซ้ำๆ ไป ย่อมใกล้ความสำเร็จ และเมื่อประกอบกับวิมังสาในการพัฒนาการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นเหตุให้การทำสมาธิประสบผลสำเร็จได้

มีตัวอย่างในพระไตรปิฎกว่า ในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ได้เกิดเป็นพ่อค้า ครั้งหนึ่งได้เดินทางไปผ่านไปทางทะเลทราย ในวันนั้นเป็นวันสุดท้ายที่ดูจากระยะทางแล้วต้องพ้นจากทะเลทรายในวันนี้แน่นอน ทุกคนต่างก็มีความมั่นใจว่า ต้องผ่านไปได้ เพราะเหลืออีกไม่ไกล ปกติการเดินทางในทะเลทรายมักจะเดินทางกันตอนกลางคืน เพราะอากาศกลางวันร้อนมากจึงต้องหลบพักผ่อนอยู่ในเต็นท์ คืนนั้นเป็นคืนสุดท้ายที่ทุกคนคาดว่าอย่างไรก็คงพ้นทะเลทราย จึงต่างพากันพักผ่อนและปล่อยให้โคทำงาน พาเดินไปโดยมีคนทำหน้าที่ดูควบคุมเส้นทางเอาไว้ 1 คน แต่เนื่องจากความประมาท คนที่ทำหน้าที่คุมเส้นทางก็พลอยผล็อยหลับไปด้วย โคซึ่งปัญญาน้อย จึงเดินไปตามใจตัวเอง หมุนเกวียนให้เดิน ทางย้อนกลับเส้นทางเดิม กว่าจะรู้ตัวตื่นก็ปรากฏว่า ย้อนกลับมาที่เดิมเรียบร้อย ก็เช้าพอดี คนส่วนใหญ่พากันเข่าอ่อนคิดว่า ตายแน่คราวนี้ เนื่องจากน้ำที่เตรียมมาหมดพอดี เมื่อขาดน้ำก็ไม่สามารถจะหุงหาอาหารได้ พากันนอนรอความตายอยู่ มีแต่เพียงพระโพธิสัตว์เท่านั้น ที่คิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ท่านเดินไปเดินมาอยู่แถวนั้น ก็เหลือบไปเห็นกอหญ้าอยู่กอหนึ่ง พลันความคิดก็กระจ่าง ท่านจึงให้ช่วยกันขุดทราย เอาน้ำจากใต้ดินมาใช้ แต่ว่าเมื่อขุดไปจนจะถึงน้ำ ปรากฎว่ามีก้อนหิน ก้อนใหญ่ขวางทางอยู่ จึงเป็นเหตุให้ทุกคนสิ้นหวังกลับไปนอนหมด แต่พระโพธิสัตว์ไม่ยอมแพ้ ด้วยจิตตะ ที่ฝึกมาดีแล้ว ท่านพิจารณาเห็นก้อนหินมีลักษณะที่จะกระทำอะไรได้สักอย่าง จึงเรียกคนใช้คนสำคัญมาสั่งว่า จงทุบหินนี้ คนใช้นั้น เป็นคนที่ไม่มีข้อแม้ แม้ตนเองจะรู้ว่า แทบไม่มีทางเลย ก็ทุ่มทุบลงไปในที่สุดหินนั้นก็แตกจริงๆ และทุกคนก็รอดตายเพราะน้ำนั้น เราจะเห็นว่า จิตตะนั้นเป็นตัวทำให้เกิดความเพียร มีความสม่ำเสมอในการทำการงาน ความเพียรที่สม่ำเสมอ มีความสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลง ให้หลายสิ่ง หลายอย่าง เป็นไปอย่างที่หวังได้

        1.3.1 จิตตะในแนวการปฏิบัติสมาธิ จิตตะนั้น พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ให้ความหมายโดยสรุปไว้ คือ วิจารณ์ และท่านได้ขยายความว่า วิจารณ์ตรวจดูการปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามแนวคำสอนของอาจารย์ให้ดีที่สุด คือ ต้องตรวจดูการปฏิบัติ แล้วทำตามคำที่ครูสอน ครูสอนไว้อย่างไร ก็ให้ดำเนินตามแนวนั้นไม่ปฏิบัติผิดจากกัน

        หลวงพ่อธัมมชโยได้ขยายเพิ่มขึ้นอีกว่า[1] ถ้ามีจิตตะ ใจจะจรดจดจ่ออยู่ที่กลางกาย อยู่ที่กลางของความสบาย อยู่ที่ใจหยุดใจนิ่ง

        1.3.2 วิธีการสร้างจิตตะ จิตตะจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยบรรยากาศรอบตัวเป็นส่วนช่วย ลองสังเกตดู ถ้าเรามาวัด ก็เป็นบรรยากาศของการปฏิบัติธรรม การนั่งสมาธิการฟังเทศน์ สิ่งนี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะบรรยากาศทุกอย่างเอื้อให้นึกถึงเรื่องบุญ เรื่องธรรมะ เรื่องกุศล แต่ถ้าใครไปชายทะเล บรรยากาศความรู้สึก ก็จะไปอีกแบบ ใจก็จะคิดไปอีกเรื่อง ฉะนั้น บรรยากาศรอบตัวจะมีผลต่อความรู้สึกนึกคิด ของตัวเราเอง

        เพราะฉะนั้นในการสร้างจิตตะ ถ้าเราต้องการจะทำสิ่งใด ต้องสร้างบรรยากาศรอบตัวให้เอื้ออำนวยต่อสิ่งนั้น เช่น จะนั่งสมาธิ ก็ต้องสร้างบรรยากาศในการปฏิบัติธรรม จัดสถานที่ให้อำนวยต่อการปฏิบัติ พูดคุยกันแต่ในเรื่องธรรมะ และสิ่งสำคัญประการหนึ่งของบรรยากาศก็คือ บรรยากาศพื้นฐานที่ทำให้ใจสบาย ใจสงบ แม้บรรยากาศพื้นฐานในการทำกิจกรรมทางโลกทุกอย่าง ก็ต้องเริ่มจากการรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้อย่ามองว่าการรักษาความสะอาดเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เห็นจะมีอะไร แต่ความสะอาดที่เราเห็นนั้นมีความสำคัญมาก เพราะสิ่งที่เราเห็น จะส่งผลต่อตัวเรา ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำได้



[1] พระเทพญาณมหามุนี,พระธรรมเทศนา, 3 ตุลาคม 2536.



Complete and Continue