4.วิมังสา อยากมีใจสงบในการฝึกสมาธิทำอย่างไร

วิมังสา

        วิมังสา[1] แปลว่า ความตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้นๆ หมายความว่า ใช้ปัญญาสอดส่องเทียบเคียงเปรียบเทียบ ทั้งเหตุ ทั้งผลในความดีต่างๆ ที่ตนกระทำแล้ว คือ ย้อนกลับไปดูว่าตนได้ทำเหตุปลูกฉันทะใช้วิริยะได้ตั้งจิตตะในการนั้นๆ ไว้มากน้อยเท่าไร แล้วได้ผลเท่าไร แม้ในปัจจุบันกำลังทำเหตุ คือ ปลูกฉันทะเป็นต้น ไว้เท่าไร ต่อไปคงจะได้ผลเท่าไร ถ้าได้ทำเหตุ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ไว้ดีในเบื้องต้น ก็ย่อมได้รับผล คือ ความสำเร็จในชั้นนั้นๆ เป็นลำดับมา และถ้าไม่ละเหตุดังกล่าวนั้นเสียในปัจจุบัน ก็ย่อมได้ ผล คือ ความสำเร็จในชั้นสูงต่อไปในอนาคต แม้ในการปฏิบัติธรรม สะสางกิเลส ถ้ามีเหตุ คือ ฉันทะ เป็นต้นบริบูรณ์ ก็ย่อมจะได้รับผลดีเป็นชั้นๆ ถ้ามีเหตุไม่บริบูรณ์ก็ย่อมได้รับผลไม่ดี คือ ละกิเลสไม่ได้ อีกประการ หนึ่ง กิจกรรมใดๆ จะสำเร็จมากน้อยเพียงใด หรือไม่สำเร็จ เพราะเหตุใด ตนเองจะต้องสอบสวนเปรียบ เทียบด้วยตนเองเป็นดีที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่า ปฏิมํเสตมตฺตนา จงพิจารณาสอบสวนด้วยตนเอง  

        เมื่อบุคคลพิจารณาสอบสวนการกระทำของตนด้วยตน ก็ย่อมเข้าใจตนเอง สามารถปรับตนเองให้ถูกต้อง ทำงานให้ถูกต้อง ทั้งคดีโลกคดีธรรมก็ย่อมสำเร็จกิจตามวัตถุประสงค์ที่ไม่เหลือวิสัยทุกประการ

        1.4.1 วิมังสาในแนวทางการปฏิบัติสมาธิ ในแนวทางการปฏิบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงแนวทางการปฏิบัติของพระองค์อยู่เสมอ กว่าการตรัสรู้ธรรมของพระองค์จะเกิดขึ้นได้ทรงใช้วิจารณญาณ ในการใคร่ครวญ ทำการทดลองอยู่ถึง 6 ปี ในที่สุด ก็ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ

        พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)[2] ได้ให้ความหมายวิมังสาโดยสรุป คือ ทดลอง ท่านได้ขยายความว่า ทดลองในที่นี้ ได้แก่ หมั่นใคร่ครวญสอดส่องดูว่า วิธีการที่ทำไปนั้น มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง รีบแก้ไข อย่างนั้นไม่ดี เปลี่ยนอย่างนี้ลองดูใหม่ เช่น นั่งภาวนาในที่นอน มักจะง่วง ก็เปลี่ยนมานั่งเสียที่อื่น เป็นต้น

        พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี[3] ได้ขยายความคำว่าวิมังสาในแนวการปฏิบัติไว้ดังนี้

        วิมังสามาแล้ว ตรวจตราปรับปรุงวิธีการ ปรับปรุงใจว่า ทำไมเราถึงนั่งแล้วไม่หยุด ทำไมเมื่อวานนั่งดี วันนี้ทำไมนั่งไม่ดี หรือวันนี้นั่งดีทำอย่างไรถึงจะดีตลอดไป หรือเราได้ยิน ได้ฟังคนนั้นเขาหยุด เขานิ่ง เขามีความสุข เขาเข้าถึงดวงธรรมภายใน ทำอย่างไรเราถึงจะเข้าถึง เราตึงเกินไป เราหย่อนเกินไปไหม วิมังสามันก็จะมาตอนนี้

        ธรรมทั้ง 3 ประการข้างต้น คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ ต้องมีวิมังสาเป็นตัวช่วย เพราะถ้ามีฉันทะไม่พอดี คือ หย่อนเกินไป ไม่ค่อยจะรักในการปฏิบัติธรรมเท่าที่ควร หรือมีฉันทะมากเกินไป จนกลายเป็นความอยาก การปฏิบัติจะผิดวิธี และไม่สำเร็จผล เช่นเดียวกัน หากมีความเพียรย่อหย่อน ไม่ค่อยได้ทำหรือมีความเพียรจัดเกินไป จนร่างกายบอบช้ำ การปฏิบัติจะสัมฤทธิผลได้ยาก และอีกประการหนึ่ง ถ้าหากทำไปเรื่อยๆ มีจิตตะ แต่ถ้าไม่ได้พัฒนาแนวทางการปฏิบัติ การปฏิบัติก็จะไม่ก้าวหน้า

        1.4.2 ตัวอย่างการใช้วิมังสาในการปฏิบัติสมาธิ   เพื่อให้เห็นภาพของการใช้วิมังสาในการทำหน้าที่ให้การปฏิบัติธรรมบรรลุผล ดังนี้

        ตัวอย่างของพระโสณโกฬิวิสะ ท่านโสณะเป็นพระสาวกผู้เลิศทางด้านการทำความเพียร แต่ใน ช่วงต้น ท่านทำความเพียรจัดเกินไป จนร่างกายบอบช้ำ จึงไม่สามารถบรรลุธรรมได้ การปฏิบัติของท่านนั้น ว่ากันว่า ถึงขั้นเลือดตกยางออกกันทีเดียว ดังมีเรื่องเล่าว่า ในช่วงต้นท่านได้ทำความเพียร ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นเหตุให้เกิดความง่วงอย่างมาก เมื่อเกิดความง่วงขึ้น ท่านจึงเริ่มเดินจงกรม และการเดินจงกรมของท่าน ก็เดินเท้าเปล่า เนื่องจากพระสมัยนั้นไม่ใส่รองเท้า เป็นเหตุให้เท้าของท่านแตก เมื่อเท้าของท่านแตก จนเดินไม่ได้ ท่านก็ไม่ละความเพียรยังคงเดินต่อไปด้วยเข่า และในที่สุดก็ต้องคลาน สถานที่ท่านทำความเพียรจนพื้นที่ที่ทำ ความเพียรเป็นสีแดงด้วยเลือดของท่าน สถานที่นั้นเป็นเหมือนลานเชือดโค ท่านพิจารณาเห็นว่า ท่านทำความเพียรอย่างหนักประกอบด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ทำให้ท่านบรรลุได้ ด้วยวิมังสาที่ยังไม่สมบูรณ์ของท่าน ท่านจึงคิดว่า สงสัยเรานั้นจะไม่มีบุญได้บรรลุเป็นแน่ เพราะเราถึงทำความเพียรอย่างนี้แล้วก็ยังไม่บรรลุ เกิดความท้อใจ จึงคิดสึกไปเป็นคฤหัสถ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ จึงทรงเสด็จมาเพื่อเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ท่าน ด้วยการมาเติมวิมังสาให้สมบูรณ์ โดยใช้อุปมาของพิณ 3 สาย ดังเนื้อเรื่อง ที่จะยกมาเป็นตัวอย่าง[4]

        ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบปริวิตกแห่งใจของท่านพระโสณะด้วยพระทัย แล้วทรง หายตัวจากภูเขาคิชฌกูฏไปปรากฏตรงหน้าของท่านพระโสณะที่ป่าสีตวัน ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่ได้ปูแล้ว แม้ท่านพระโสณะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วได้นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสถามท่านพระโสณะว่า ดูก่อนโสณะ ท่านหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ เกิดปริวิตกแห่งใจอย่างนี้ หรือว่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้ปรารภความเพียร เราก็เป็นผู้หนึ่งในจำนวนสาวกเหล่านั้น ก็แต่ว่าจิตของเรายังไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็โภคทรัพย์มีอยู่ในสกุลของเรา เราอาจเพื่อใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้ หรือมิฉะนั้น เราควรบอกคืนสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญดีกว่า

        ท่านพระโสณะทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ท่านเมื่อก่อนยังอยู่ครองเรือน เป็นผู้ฉลาดในการดีดพิณ ใช่หรือไม่

        ท่านพระโสณะทูลว่า ใช่ พระเจ้าข้า

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโสณะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร ก็เมื่อใดสายพิณของท่านตึงเกินไป เมื่อนั้น พิณของท่านย่อมมีเสียงไพเราะหรือ ย่อมควรแก่การใช้งานหรือไม่Ž

        ท่านพระโสณะทูลว่า ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโสณะ ท่านสำคัญความข้อนั้นเป็นอย่างไร เมื่อใดสายพิณของท่านหย่อนเกินไป เมื่อนั้น พิณของท่านย่อมมีเสียงไพเราะ หรือย่อมควรแก่การใช้งานหรือไม่

        ท่านพระโสณะทูลว่า ไม่เป็นเช่นนั้น พระเจ้าข้า

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าดูก่อนโสณะ ดูก่อนโสณะ ก็เมื่อใด สายพิณของท่านไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป ขึงให้ตึงปานกลาง เมื่อนั้น พิณของท่านย่อมมีเสียงไพเราะ หรือย่อมควรแก่การใช้งานหรือไม่

        ท่านพระโสณะทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนโสณะ ฉันนั้นเหมือนกัน ความเพียรที่ปรารภมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ดูก่อนโสณะเพราะ ฉะนั้น ท่านจงตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ จงตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้นŽ

        ท่านพระโสณะทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงหายจากป่าสีตวันไปปรากฏที่ภูเขาคิชฌกูฏ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขน ที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

        ต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรให้สม่ำเสมอ ได้ตั้งอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ และได้ถือนิมิต ในความสม่ำเสมอนั้น ต่อมาท่านอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร ตั้งใจแน่วแน่ ทำให้แจ้งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ก็ท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย

        จากข้างต้น ท่านพระโสณะเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เราจึงควรมีวิมังสา หมั่นพิจารณาในการที่จะปรับการปฏิบัติของเราให้พอเหมาะพอสม และให้มีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้าขึ้น พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนีมักจะบอกว่า พวกเรามักจะลืม เวลาปฏิบัติจริง จึงมักเดินตามแนวทางเดิมซึ่งเป็นวิธีที่ผิด และเป็นอย่างนี้ซ้ำๆ โดยที่เราไม่ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุให้บางคนต้องยืดเวลาการเข้าถึงธรรมออกไป เป็น 5 ปี 10 ปี บางคนถึง 20 ปี

        เพราะฉะนั้นให้เราได้ตั้งมั่นในอยู่ในธรรม 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี(สด จนฺทสโร)ได้ให้คำสรุปไว้ว่า ปักใจ บากบั่น วิจารณ์ และทดลอง ธรรม 4 ประการก็จะบังเกิดขึ้นในตัวของเราทุกคน หากเรามีธรรมทั้ง 4 ประการนี้ครบถ้วน ไม่ว่าจะมีภารกิจมากน้อยเพียงใดก็ตามจะสมความปรารถนาเข้าถึงความสุขภายในอย่างง่ายๆ จึงควรให้มีฉันทะ มีความรักที่จะเข้าถึงธรรม วิริยะ ความเพียรในทำสมาธิ จิตตะ จิตใจฝักใฝ่ในการทำเพียรอย่างต่อเนื่อง และวิมังสา หมั่นทำการทดลองและพัฒนาแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางที่ตั้งไว้


[1] คณาจารย์โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง,แบบประกอบนักธรรมตรี อธิบายธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 1, ( กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียง, 2536 ),หน้า 95-96.

[2] มรดกธรรม กัณฑ์ที่ 2 หน้า 64

[3] พระเทพญาณมหามุนี,พระธรรมเทศนา,3 ตุลาคม 2536

[4] โสณสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต, มก. เล่ม 36 ข้อ 326 หน้า 706.



Complete and Continue