วิธีการศึกษา

1. การเตรียมตัวเพื่อการศึกษาด้วยตนเอง

            ในการศึกษาแต่ละบทของชุดวิชาชีวิตสมณะ นักศึกษาควรปฏิบัติดังนี้

            1. ควรศึกษาบทเรียนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ โดยอาจใช้เวลาเพื่อการเรียนรู้  วันละ 1 ชั่วโมง และควรศึกษาให้จบแต่ละบทภายใน 1 สัปดาห์

            2. ควรทำแบบฝึกหัดก่อนบทเรียนเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจ และเมื่อได้ศึกษาจนจบในแต่ละบทแล้วควรทำแบบฝึกหัดท้ายบทเรียนอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำและประเมินความรู้ที่ได้ศึกษาผ่านมา

            3. นักศึกษาควรศึกษาวิธีการ และวางแผนทำกิจกรรมภาคปฏิบัติเสริม   ความเข้าใจในบทเรียนก่อนล่วงหน้า เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการศึกษาบทเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

            4. เนื่องจากวิชาชีวิตสมณะ เป็นวิชาที่มุ่งอธิบายเพื่อประโยชน์แก่การนำไปปฏิบัติ จึงขอให้นักศึกษาได้นำเอาความรู้ที่ได้ ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนสืบไป

 

2. การประเมินผลตนเองก่อนและหลังเรียน

            ขอให้นักศึกษาทำแบบประเมินผลตนเองก่อนเรียน ในแบบประเมินก่อนเรียนของแต่ละบท เพื่อวัดพื้นความรู้เดิมของนักศึกษาว่ามีความรู้ในเนื้อหาที่จะศึกษามากน้อยเพียงใด และหลังจากศึกษาเอกสารการสอนโดยตลอดทั้งบทแล้ว ขอให้นักศึกษาได้ทำแบบประเมินหลังเรียนอีกครั้ง เพื่อเป็นการประเมินตนเองว่าได้รับความรู้เพิ่มขึ้นจากเดิมมากน้อยเพียงใด และมีความรู้อยู่ในระดับที่จะศึกษาในบทต่อไปได้หรือไม่ ขอให้นักศึกษาพึงตระหนักว่า การทำแบบประเมินผลตนเองก่อนและหลังเรียนด้วยความซื่อสัตย์ต่อตนเองเท่านั้นจึงจะได้ผล

 


3. การศึกษาเอกสารการสอน

            หลังจากทำแบบประเมินก่อนเรียนเสร็จแล้ว นักศึกษาควรศึกษาเนื้อหาในแต่ละบทเรียนจากหนังสือจนจบก่อน และเมื่ออ่านรายละเอียดแต่ละบทจบแล้ว ก็ควรสรุป ทบทวน หรือจดบันทึกความเข้าใจของตนเองลงสมุดไว้ ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นแนวทางใน    การประเมินตนเอง ว่ามีความเข้าใจในบทเรียนอย่างแท้จริง จากนั้นจึงเริ่มทำแบบประเมินท้ายบทเรียนต่อไป และหากยังมีเนื้อหาในบทเรียนใดที่นักศึกษายังไม่เข้าใจ ก็ควรรวบรวมคำถามเหล่านั้นไว้ เพื่อสอบถามกับพระอาจารย์ประจำชุดวิชาในภายหลัง

 

4. การทำกิจกรรม

            นักศึกษาควรวางแผนทำกิจกรรมที่กำหนดไว้ให้ดี เพื่อที่จะได้กำหนดช่วงเวลาสำหรับทำกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ครบถ้วนตามที่หลักสูตรวิชากำหนดไว้ และเมื่อทำกิจกรรมในแต่ละครั้งเสร็จแล้ว ให้นักศึกษาบันทึกสาระสำคัญลงในแบบประเมินผลกิจกรรมตามที่จัดให้ (ในหัวข้อกิจกรรมเสริม วิชา “ชีวิตสมณะ”)

            เนื่องจากกิจกรรมที่กำหนดให้ มีความจำเป็นมากสำหรับการศึกษาในชุดวิชานี้ นักศึกษาจึงควรให้ความสำคัญ และทำทุกกิจกรรมด้วยความตั้งใจ ทั้งนี้ก็เพื่อที่ตนเองจะได้รับประโยชน์จากการทำกิจกรรมอย่างแท้จริง

  5. การประเมินผล

            การศึกษาวิชาชีวิตสมณะ จะประเมินผลการเรียนของนักศึกษา จากคะแนนในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป โดยมีคะแนนรวมทั้งสิ้น 100 คะแนน ดังนี้

            ภาคทฤษฎี     70    คะแนน

            ภาคปฏิบัติ     30    คะแนน

                  ภาคทฤษฎี

            ข้อสอบภาคทฤษฎี เป็นข้อสอบแบบปรนัย (5 ตัวเลือก) ตามเนื้อหาที่นักศึกษาได้เรียนรู้มาจากบทเรียน คิดเป็น 70 คะแนน

                   ภาคปฏิบัติ

            1. การทำกิจกรรมและบันทึกผลการปฏิบัติ เป็นกิจกรรมเสริมให้นักศึกษาได้เข้าใจเนื้อหาในภาคปฏิบัติ ตามที่ได้ศึกษามาจากบทเรียนมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

              1.1 กิจกรรมศึกษาประวัติพระอรหันตเถระและพระอรหันตเถรี 15 คะแนน

              1.2 กิจกรรมฝึกสติสัมปชัญญะ                                     15 คะแนน

            2. การตอบคำถามแบบประเมินก่อนเรียนและหลังเรียน นอกจากนักศึกษาจะต้องตอบคำถามในแบบประเมินให้ครบถ้วน เพื่อประเมินความรู้ความเข้าใจในบทเรียนของตนเองแล้ว แบบประเมินนี้ ยังจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาวัดผลการเรียนของนักศึกษาอีกด้วย

Complete and Continue