1.วิธีวัดฉันทะในการฝึกสมาธิ

ฉันทะ

        ฉันทะ[1] แปลว่า ความพอใจรักใคร่ หมายความว่า พอใจ รักใคร่ที่จะทำความดี ด้วยความเต็มใจและตั้งใจอย่างแรงกล้า ซึ่งความดีที่ควรทำนั้นมีประการต่างๆ ตัวอย่าง เช่น การศึกษาศิลปวิทยาทางโลก และทางธรรม การประกอบกิจเครื่องเลี้ยงชีวิต การปฏิบัติพระธรรมพระวินัยคุ้มครองจิตใจให้สงบแช่มชื่น จนกระทั่งการทำจิตให้หมดจดจากกิเลส

            1.1.1 ฉันทะในการปฏิบัติสมาธิ พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้ให้ความหมายโดยสรุปไว้ คือ[2] ปักใจ ท่านได้ขยายความว่า ต้องปักใจรักการนี้จริงๆ ประหนึ่งชายหนุ่มรักหญิงสาว ใจจดจ่อต่อหญิงคู่รัก ฉะนั้น การรักสมาธิต้องมีใจเฝ้าคะนึงถึง ด้วยความรักอย่างจริงๆ

        หลวงพ่อธัมมชโยได้กล่าวสอนแนวทางการวัดฉันทะในใจเราว่า มีมาก แค่ไหนด้วยการให้ถามตัวเองว่า เรารักในการเข้าถึงพระธรรมกายมากแค่ไหน เป็นการให้ทบทวนถึงฉันทะในตัวเราและประเมินตัวเองบ่อยๆ เมื่อเราได้ตระหนักถึงความรักในการเข้าถึงพระธรรมกาย เราก็จะเกิดวิริยะมีความเพียรขึ้น แล้วเราจะเริ่มปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายอย่างจริงจัง และการปฏิบัติธรรมต้องระวังเรื่องของความอยาก เพราะถ้าความรักมีมากเกินไป จนกลายเป็นความอยาก ความสุขในการทำสมาธิก็จะไม่เกิด จะได้ความเครียดมาแทน ฉะนั้น ผู้ทำสมาธิจึงพึงสังวรและระวัง อย่าให้ฉันทะกลายเป็นตัณหา คือ ความอยาก

       หลวงพ่อธัมมชโยได้ขยายความในเรื่องนี้ไว้ดังนี้[3] ฉันทะคือความรักในการปฏิบัติธรรม อยากเข้าถึงธรรมได้อย่างเย็นๆ มีความผูกสมัครรักใคร่ในธรรม อยากให้เข้าถึงดวงธรรม อยากถึงธรรมกาย อยากเข้ากลางได้ อยากได้สุขที่เกิดจากการหยุดการนิ่งภายใน มีแค่ฉันทะพอ อย่าให้ฉันทะมีมากจนกระทั่งไปเป็นความอยาก ถ้าอยากมากเกินไปแล้วกลุ้ม ถ้านั่งไม่ได้ผลแล้วเบื่อ พอเบื่อแล้วก็โทษนั่นโทษนี่ น้อยอกน้อยใจกันไป เพราะฉะนั้นให้มีฉันทะแค่นั้นพอ มีความรักมีความชอบมีความพึงพอใจที่จะเข้าถึงธรรมอย่างเย็นๆ เบาๆ สบาย พอฉันทะซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ เป็นหัวหน้าทีมตั้งขึ้นได้ เดี๋ยววิริยะความเพียรจะมาเอง

         1.1.2 มูลเหตุที่ทำให้เกิดฉันทะในการปฏิบัติธรรม การกระทำให้เกิดฉันทะมีอยู่หลายประการ เช่น การมองให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม การมองให้เห็นคุณของการออกจากภพ และการมองให้เห็นภัยที่มีอยู่ในภพ เหมือนพระโพธิสัตว์ของเรา ที่ท่านมองเห็นโทษของความแก่ ความเจ็บ และความตายว่าเป็นภัย ท่านจึงไม่อยากกลับมาเกิดอีก และมองเห็นว่าเพศสมณะมีคุณที่จะทำให้เราออกไปจากภพที่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย นี้ได้

        พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเมื่อครั้งที่ท่านเป็นคฤหัสถ์ ขณะที่กำลังดูการแสดงบนเวที ซึ่งทุกคนกำลังสนุกสนานกับการแสดงอยู่ แต่ท่านทั้งสองกลับมองว่า ไม่นานคนแสดงก็ต้องตาย แม้ตัวท่านทั้งสองก็ต้องตาย จึงออกบวช ตั้งใจปฏิบัติธรรม ในเรื่องของการมองให้เห็นคุณของการออกจากภพ และโทษของการอยู่ในภพนี้ เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้น จะขอนำตัวอย่างของพระมิลลกะ[4] ที่ท่านได้กัลยาณมิตรจึงทำให้ท่านเกิดฉันทะในการทำความเพียร

       เล่ากันมาว่า ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ พระเถระนั้นเลี้ยงชีพด้วยการกระทำปาณาติบาตเป็นนายพราน อยู่ในป่า วันหนึ่งกำลังเคี้ยวกินเนื้อที่ปิ้งไว้บนถ่าน เที่ยวไปในที่ใกล้บ่วง ถูกความกระหายครอบงำ จึงไปสู่วิหารของพระเถระผู้อยู่ป่ารูปหนึ่ง เปิดหม้อน้ำดื่มที่ตั้งอยู่ในที่ไม่ไกลของพระเถระผู้กำลังเดินจงกรมอยู่ ไม่ได้เห็นน้ำติดก้นโอ่ง เกิดอารมณ์โกรธ กล่าวว่า ภิกษุ พวกท่านฉันโภชนะที่คฤหบดีให้แล้วก็หลับไป ไม่จัดตั้งน้ำไว้แม้เพียงนิ้วมือหนึ่งในหม้อน้ำ นั่นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง

พระเถระกล่าวว่า ผมได้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เต็มแล้ว จึงไปตรวจดู เห็นหม้อน้ำยังเต็ม จึงบรรจุสังข์สำหรับใส่น้ำดื่มจนเต็มได้ให้แล้ว ท่านดื่มน้ำที่เต็มสังข์ที่สอง คิดว่าหม้อเต็มน้ำอย่างนี้ อาศัยการกระทำของเรา เกิดเป็นเหมือนกระเบื้องร้อน ในอนาคต ตัวของเราจะเป็นอย่างไร เมื่อนายพรานฟังแล้ว มีจิตสลด ทิ้งธนูแล้วกล่าวว่าขอท่านโปรดบวชให้กระผมเถิดครับ พระเถระให้ท่านบรรพชา มื่อท่านทำสมณธรรมอยู่ สถานที่ที่ฆ่าเนื้อและสุกรเป็นอันมาก และสถานที่ดักบ่วง และฟ้าทับเหว ย่อมปรากฏ เมื่อท่านกำลังระลึกถึงสถานที่นั้นอยู่ เกิดความเร่าร้อนในร่างกาย ใจท่านไม่ดำเนินไปตามแนว พระกัมมัฏฐาน เป็นเหมือนโคโกง ฉะนั้น ท่านคิดว่า โดยภาวะเป็นภิกษุเราจะทำอย่างไร ถูกความไม่ยินดี ยิ่งบีบคั้น ไปหาพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านครับ ผมไม่อาจทำสมณธรรมได้ ลำดับนั้น พระเถระกล่าวกับท่านว่า ท่านจงทำการฝีมือ ท่านรับว่า ครับ แล้วตัดไม้สดมีไม้มะเดื่อ เป็นต้น ทำเป็นกองใหญ่  แล้วถามว่า  ผมจะทำอย่างไรต่อ จงเผามัน  ท่านก่อไฟในทิศทั้ง 4 ก็ไม่สามารถ จะเผาได้ จึงกล่าวว่า  ผมทำไม่ได้ครับ  พระเถระกล่าวว่า  ถ้าเช่นนั้น จงหลีกไป  แล้วใช้ฤทธิ์ เอามือแหวก แผ่นดิน หยิบเศษไฟ จากมหานรก ทิ้งไปบนกองไม้สด ชั่วพริบตาเดียวกองไม้ใหญ่เพียงนั้นก็ไหม้วูบ หายไปเหมือนไม้แห้ง พระเถระแสดงเปลวไฟแก่ท่านแล้ว กล่าวว่า  ถ้าท่านจะสึก ท่านจะไหม้ในที่นี้  ท่านเกิดความสังเวชปนกับความกลัวมหานรกอย่างจับใจ ตั้งแต่ท่านได้เห็นเปลวไฟ ท่านตัวสั่นถามว่า  ท่านครับ พระพุทธศาสนาเป็นเหตุนำออกจากทุกข์แน่หรือครับ  พระเถระกล่าวว่า  อย่างนั้น  พระมิลลกะกล่าวว่า  ท่านครับ เมื่อพระพุทธศาสนาเป็นเหตุนำออกจากทุกข์ มิลลกภิกษุ จะทำตนให้พ้นทุกข์ ท่านอย่าคิดไปเลย  ตั้งแต่นั้นมา ท่านมิลลกะเพียรพยายามทำสมณธรรม บำเพ็ญวัตรปฏิบัติ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ในขณะที่วางฟางที่ชุ่มน้ำไว้บนศีรษะ นั่งหย่อนเท้าทั้งสองลงในแอ่งน้ำนั่นเอง

        เราจะเห็นแล้วว่า เมื่อเรามองให้เห็นคุณของการออกจากภพ และโทษภัยของวัฏฏะ จะทำให้เรา เกิดฉันทะในการทำความเพียรขึ้นได้ มีกำลังใจที่จะปฏิบัติ ดังนั้น เราจึงควรหมั่นทำให้ฉันทะของเรา เกิดขึ้นบ่อยๆ ให้น้อมไปในการปฏิบัติธรรมให้มาก เมื่อเริ่มต้นด้วยฉันทะอันดีงามแล้ว นั่นย่อมแสดง ถึงความสำเร็จที่จะมาถึง เหมือนอาทิตย์อุทัย เป็นที่มาของแสงสว่างฉันนั้น


[1] คณาจารย์เลี่ยงเชียง, แบบประกอบนักธรรมตรี อธิบายธรรมวิภาค ปริเฉทที่ 1, (กรุงเทพฯ: เลี่ยงเชียง, 2536), หน้า 94.

[2] มรดกธรรม กัณฑ์ที่ 2 หน้า 64.

[3] พระเทพญาณมหามุนี, พระธรรมเทศนา, 3 ตุลาคม 2536.

[4] สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค, มก. เล่ม 27 หน้า117.



Complete and Continue