5.1 แนวคิดของลักษณะมหาบุรุษ

5.1 แนวคิดของลักษณะมหาบุรุษ

ลักษณะมหาบุรุษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นลักษณะพิเศษ เป็นลักษณะเฉพาะ เพราะพระองค์เป็นพระมหาบุรุษ อันเป็นลักษณะของบุคคลผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การ

สั่งสมบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้สร้างกันมาเพียงแค่วันสองวันหรือเป็นปีเป็นเดือน แต่ทรงสร้างบารมีมาหลายภพหลายชาติ นับกันเป็นอสงไขย เป็นกัป

ดังนั้นเมื่อทรงใช้ระยะเวลายาวนานในการสั่งสมบารมี พระองค์จึงได้ทรงวางแผนทุกอย่างและในทุกเรื่องเพื่อที่จะทำให้ความปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและนำเหล่าสรรพสัตว์ไปสู่ฝั่งพระนิพพานได้สำเร็จ โดยเฉพาะร่างกายที่เหมาะสมกับการมาตรัสรู้เป็นพระสัมมา

สัมพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นร่างกายที่เป็นทั้งต้นบุญต้นแบบ และเหมาะสมต่อการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์จึงทรงสร้างบารมีสั่งสมบุญอย่างมากมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งร่างกายอันสมบูรณ์แบบนั้น

          5.1.1 ความหมาย และความสำคัญของลักษณะมหาบุรุษ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์มีคุณลักษณะเฉพาะ อันเป็นเครื่องหมายที่ชี้ให้เห็นคุณความดี หรือลักษณะประจำของพระพุทธองค์ เรียกว่า มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ หรือลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ

1) ความหมายของมหาปุริสลักษณะ

มหา แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่

ปุริส แปลว่า ผู้ชาย หรือ บุรุษ (ทองย้อย, 2557: 164)

ปุริสภาวะ แปลว่า ความเป็นบุรุษ หมายถึง ภาวะอันปรากฏลักษณะอาการต่างๆ ที่แสดงความเป็นเพศชาย ; คู่กับอิตถีภาวะ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2551: 243)

ลักษณะ หรือ ลักขณะ แปลว่าเครื่องแสดงสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้เห็นว่าต่าง จากอีกสิ่งหนึ่ง คุณภาพและประเภท เป็นต้น

ดังนั้นคำว่า มหาปุริสลักษณะ หมายถึง ลักษณะของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ได้แก่ ลักษณะมหาบุรุษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระอุดรคณาธิการ (ชวินทร์), 2538: 364)

2) ความสำคัญของลักษณะมหาบุรุษ

  • 2.1) ลักษณะมหาบุรุษ เป็นลักษณะร่างกายที่สุดยอดกว่าลักษณะทั้งปวง เป็นร่างกายที่ดีที่สุด เป็นกายของผู้รู้ เป็นกายของผู้ที่จะมาตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นลักษณะของการเริ่มต้นความรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง เป็นร่างกายที่น่าชื่นชม เป็นกายที่มีเรี่ยวแรงมาก
  • 2.2) ลักษณะมหาบุรุษ ต้องสั่งสมบุญบารมีทุกอย่างมาหลายภพหลายชาติ ซึ่งไม่ใช่พรหมลิขิต หรือสวรรค์ลิขิต แต่เกิดขึ้นเพราะบุญที่ได้สั่งสมไว้บันดาลให้เกิดมาเป็นรูปกาย

ดังนั้นพระพุทธองค์จึงสั่งสมบุญบารมีมากมายเพื่อเป้าหมายแห่งการเป็น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมจักได้กายมหาบุรุษเพื่อการแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ แล้วนำความรู้นั้นมาสอนสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งมนุษย์และเทวดา เพราะเป็นร่างกายที่เหมาะแก่การตรัสรู้ธรรม มีเรี่ยวแรงมาก และยังเป็นร่างกายที่เป็นต้นบุญต้นแบบของมนุษย์ทั้งปวง ทำให้มนุษย์ และเทวดา ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายเคารพกราบไหว้บูชา ยังความเลื่อมใสมาสู่ใจของเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำได้ ถ้ามีความปรารถนาที่อยากจะได้กายนี้ ก็ต้องรีบสั่งสมบุญบารมีให้มากๆ ตั้งแต่วันนี้ แล้วในอนาคตไม่ไกล เราก็มีโอกาสจะทำได้กายมหาบุรุษอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์สร้างบารมีกันมาอย่างยาวนาน และถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติตลอดจนคุณธรรมที่จะทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ด้วยบุญบารมีที่สั่งสมมาตลอดเส้นทางการสร้างบารมี ทำให้ได้ลักษณะของร่างกายที่สมบูรณ์ เหมาะสมกับตำแหน่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นต้นบุญต้นแบบของสรรพสัตว์ตลอดทั่วทั้งภพสาม จึงทำให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่เคารพ ศรัทธา เทิดทูนบูชา บุคคลใดเมื่อพบเจอก็เกิดจิตเลื่อมใส พระองค์จึงเป็นเอกบุคคลที่ไม่มีบุคคลใดทั่วทั้งภพสามเสมอเหมือนได้


5.1.2 ลักษณะมหาบุรุษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

1) ที่มาของลักษณะมหาบุรุษ

สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ทรงรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาประชุม แล้วตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ เหล่านี้ ย่อมมีคติเป็น 2 เท่านั้นไม่เป็นอย่างอื่น” ซึ่งขยายความได้ดังนี้

ภาพที่ 5.1 พระเจ้าจักรพรรดิ

  • 1.1) ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชา เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต ทรงมีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ 7 ประการ ได้แก่ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว พระราชบุตรของพระองค์มีกว่า 1,000 พระองค์ ซึ่งล้วนแต่กล้าหาญมีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีราชศัตรูได้พระองค์ทรงชนะโดยธรรม ไม่ต้องใช้อาญา ไม่ต้องใช้ศาสตราวุธ ครอบครองแผ่นดินโดยธรรม
  • 1.2) ถ้าเสด็จออกผนวชเป็นบรรพชิตจะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไม่มีกิเลสในโลก (ที.ม. 10/33/15-16 มจร)

2) ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ

ลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการนี้มีอยู่ในพระนิยตโพธิสัตว์ทุกพระองค์ในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรับรองไว้ตามที่กล่าวข้างต้น ดังนี้

  • 2.1) มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน (ฝ่าพระบาทเต็ม)
  • 2.2) มีพื้นฝ่าพระบาททั้งสองของมหาบุรุษมีจักรซึ่งมีกำข้างละ 1,000 ซี่ มีกงมีดุม และมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง
  • 2.3) มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป
  • 2.4) มีพระองคุลียาว ที่นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาท
  • 2.5) มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม
  • 2.6) มีฝ่าพระหัตถ์และพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย
  • 2.7) มีข้อพระบาทสูง หลังพระบาทดุจหอยสังข์คว่ำ
  • 2.8) มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
  • 2.9) เมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้
  • 2.10) มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก
  • 2.11) มีพระฉวีดุจสีทอง คือคล้ายทองคำ
  • 2.12) มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้
  • 2.13) มีพระโลมชาติเดี่ยว คือในแต่ละขุมขนมีเพียงเส้นเดียว
  • 2.14) มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือพระโลมชาติขอดเป็นวง เวียนขวาดังกุณฑลสีครามเข้มดังดอกอัญชัน
  • 2.15) มีพระวรกายตั้งตรงดุจพรหม
  • 2.16) มีพระมังสะในที่ 7 แห่งเต็มบริบูรณ์ คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จงอยพระอังสะทั้งสอง และพระศอ
  • 2.17) มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์
  • 2.18) มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน
  • 2.19) มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ 1 วา ของพระองค์ (1 วา ของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกาย)
  • 2.20) มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด
  • 2.21) มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี
  • 2.22) มีพระหนุดุจคางราชสีห์
  • 2.23) มีพระทนต์ 40 ซี่
  • 2.24) มีพระทนต์เรียบเสมอกัน
  • 2.25) มีพระทนต์ไม่ห่างกัน
  • 2.26) มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม
  • 2.27) มีพระชิวหาใหญ่ยาว
  • 2.28) มีพระสุรเสียงพรหมตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก
  • 2.29) มีดวงพระเนตรดำสนิท
  • 2.30) มีดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด
  • 2.31) มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น
  • 2.32) มีพระเศียรดุจประดับกรอบพระพักตร์ (ที.ปา. 11/200/160-163 มจร)

มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ ตามที่กล่าวไว้ครบถ้วนในลักษณสูตร ทีฆนิกายปาฏิวรรคและมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระสุตตันตปิฎก เกิดขึ้นได้จากอานิสงส์ที่

พระโพธิสัตว์ได้สร้างกุศลกรรมได้สั่งสมบุญบารมีข้ามภพข้ามชาติ จึงได้มหาปุริสลักษณะ 32 ประการอย่างครบถ้วน

ภาพที่ 5.2 ลักษณะมหาบุรุษ

 

3) อนุพยัญชนะ 80 ประการ

อนุพยัญชนะ 80 หมายถึง พระลักษณะข้อปลีกย่อยของมหาบุรุษ นอกเหนือจากมหา

ปุริสลักษณะ 32 ประการ) อีก 80 ประการ ซึ่งเกิดจากกุศลกรรมที่เคยสั่งสมบุญ บารมีข้ามภพข้ามชาติครั้งที่เป็นพระโพธิสัตว์ ดังนี้

  • 3.1) นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทเหลืองงาม
  • 3.2) นิ้วพระหัตถ์ และพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับตั้งแต่โคนจนถึงปลาย
  • 3.3) นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี
  • 3.4) พระนขาทั้ง 20 (เล็บพระหัตถ์และพระบาท) มีสีแดง
  • 3.5) พระนขา (ที่พระหัตถ์) ทั้ง 10 งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบน
  • 3.6) พระนขาทั้ง 20 มีพรรณเกลี้ยงกลมสนิทมิได้มีริ้วรอย
  • 3.7) ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาท ซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้นูนขึ้นปรากฏออกมาภายนอก
  • 3.8) พระบาททั้งสองเสมอกัน มิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าขนาดเมล็ดงา
  • 3.9) ทรงดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ
  • 3.10) ทรงดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งราชสีห์
  • 3.11) ทรงดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งหงส์
  • 3.12) ทรงดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งโคอุสภราช
  • 3.13) ขณะเมื่อประทับยืน จะย่างดำเนินยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน
  • 3.14) พระชาณุมณฑล เกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์มิได้เห็นลูกสะบ้าปรากฏออกมา
  • 3.15) มีลักษณะของบุรุษครบบริบูรณ์ มิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี
  • 3.16) พระนาภีมิได้บกพร่องกลมงาม มิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง (ไม่มีช่อง)
  • 3.17) พระอุทรมีสัณฐานเว้าสมส่วน
  • 3.18) ภายในพระอุทรมีรอยเวียนขวาเป็นทักษิณาวรรต
  • 3.19) ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัทลี คือต้นกล้วยทอง
  • 3.20) ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพหัตถี
  • 3.21) พระองคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงงามสมกันหาที่ติมิได้
  • 3.22) พระองคาพยพที่ควรหนาก็หนา ที่ควรบางก็บาง
  • 3.23) พระมังสะทั่วพระวรกาย มิได้หด (อิ่มตัว)
  • 3.24) พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อม และไฝปานมูลแมลงวัน
  • 3.25) พระวรกายงามบริสุทธิ์สมกันโดยลำดับ
  • 3.26) พระวรกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง
  • 3.27) ทรงพระกำลังมากเสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ
  • 3.28) มีพระนาสิกสูงโด่ง
  • 3.29) ทรงมีสัณฐานพระนาสิกสวยงาม
  • 3.30) ทรงมีพระโอษฐ์บนและล่างมิได้เหลื่อมกัน เสมอกันเป็นอันดี มีสีแดงดุจสีผลตำลึงสุก
  • 3.31) มีพระทนต์งามสะอาดปราศจากมูลมลทิน
  • 3.32) พระทนต์ขาวดุจสีสังข์
  • 3.33) พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย
  • 3.34) ทรงมีพระอินทรีย์ทั้ง 5 บริสุทธิ์
  • 3.35) ทรงมีพระเขี้ยวทั้ง 4 กลมเต็ม
  • 3.36) วงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย
  • 3.37) พระปรางทั้งสองเอิบอิ่มเปล่งปลั่งเสมอกัน
  • 3.38) ลายพระหัตถ์มีเส้นลึก
  • 3.39) ลายพระหัตถ์มีเส้นยาว
  • 3.40) ลายพระหัตถ์มีเส้นตรงมิได้ค้อมคด
  • 3.41) ลายพระหัตถ์มีเส้นแดงรุ่งเรือง
  • 3.42) รัศมีแผ่ออกจากพระวรกายเป็นวงรอบ (เป็นฉัพพรรณรังสี 6 ประการ คือ
  • นีละปีตะ โลหิตะ โอทาตะ มัณเชฎฐะ และปภัสสระ)
  • 3.43) กระพุ้งพระปรางทั้งสองบริบูรณ์
  • 3.44) กระบอกพระเนตรกว้างยาวงามพอสมกัน
  • 3.45) ดวงพระเนตรมีประสาททั้ง 5 แจ่มใส
  • 3.46) ปลายเส้นพระโลมามิได้งอมิได้คด
  • 3.47) พระชิวหามีสัณฐานงาม
  • 3.48) พระชิวหาอ่อนมิได้กระด้างมีสีแดงเข้ม
  • 3.49) พระกรรณทั้ง 2 ยาวงามดุจกลีบปทุมชาติ
  • 3.50) ช่องพระกรรณมีสัณฐานกลมงาม
  • 3.51) ระเบียบพระเส้นสละสลวยมิได้ขอดในที่ใดที่หนึ่ง
  • 3.52) แถวพระเส้นซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้เป็นคลื่นโปนขึ้นเหมือนสามัญชน
  • 3.53) พระเศียรสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว
  • 3.54) ปริมณฑลพระนลาฏกว้างยาวพอสมกัน
  • 3.55) พระนลาฏมีสัณฐานงาม
  • 3.56) พระขนงมีสัณฐานงามดุจคันธนูที่โก่งไว้
  • 3.57) พระโลมาขนงเส้นละเอียด
  • 3.58) พระโลมาขนราบตามลำดับ
  • 3.59) พระขนงใหญ่
  • 3.60) พระขนงยาวสุดหางพระเนตร
  • 3.61) ผิวพระมังสะละเอียดทั่วพระวรกาย
  • 3.62) พระวรกายรุ่งเรืองด้วยสิริ
  • 3.63) พระวรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
  • 3.64) พระสรีรกายสดชื่นดุจดอกปทุมชาติ
  • 3.65) พระสรีรกายมีสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท
  • 3.66) พระวรกายกลิ่นหอมฟุ้ง ดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา
  • 3.67) เส้นพระโลมาเสมอกัน
  • 3.68) เส้นพระโลมาละเอียดทั่วพระวรกาย
  • 3.69) ลมอัสสาสะอันหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด
  • 3.70) พระโอษฐ์มีสัณฐานงามคล้ายแย้ม
  • 3.71) พระโอษฐ์มีกลิ่นหอมดุจกลิ่นอุบล
  • 3.72) พระเกศาดำเป็นแสง
  • 3.73) พระเกศากลิ่นหอมฟุ้งตลบ
  • 3.74) พระเกศากลิ่นหอมดุจกลิ่นโกมลบุปผชาติ
  • 3.75) พระเกศาเส้นกลมสวยทุกเส้น
  • 3.76) พระเกศาดำสนิททุกเส้น
  • 3.77) พระเกศามีเส้นละเอียด
  • 3.78) พระเกศามิได้ยุ่งเหยิง
  • 3.79) พระเกศาเวียนเป็นทักษิณาวรรตทุกเส้น
  • 3.80) วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา (เป็นแถวแห่งรัศมีอันโชตนาการ ณ เบื้องบนพระอุตมังคศิโรตม์) (สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส, 2537: 77-80)

ทั้งหมดนี้คือลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ และอนุพยัญชนะอีก 80 ประการ ของมหาบุรุษผู้มีร่างกายสมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งผลบุญที่ได้สั่งสมมายาวนานตลอดการสร้างบารมีนับแต่พระชาติแรกจวบกระทั่งพระชาติที่ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

4) ฉัพพรรณรังสีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะมีพระรัศมีเป็นฉัพพรรณรังสีแผ่ออกไปรอบพระวรกายเป็นปรกติ ฉัพพรรณรังสี มีอยู่ 6 ประการ ดังนี้

  • 4.1) นีละ สีเขียว เหมือนดอกอัญชัน
  • 4.2) ปีตะ สีเหลือง เหมือนหรดาลทองคำ
  • 4.3) โลหิตะ สีแดง เหมือนตะวันอ่อน
  • 4.4) โอทาตะ สีขาว เหมือนแผ่นเงิน
  • 4.5) มัญเชฎฐะ (มัญเชฐะ) สีหงสบาท เหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่ (สีแสด)
  • 4.6) ประภัสสร เลื่อมพราย เหมือนแก้วผลึก เปล่งประกายสว่างไสว (ขุ.ป. 31/116/178 มจร)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระรัศมีที่แผ่ไปได้ 1 วา บางพระองค์มีพระรัศมีที่แผ่ไปได้โดยรอบกว้างถึง 80 ศอก หรือ 20 วา แต่สำหรับพระมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะแตกต่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ อย่างมาก เพราะพระรัศมีของพระมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเป็นสีทอง และแผ่ออกไปตลอดหมื่นโลกธาตุ[1] อีกทั้งพระรัศมีของพระองค์ยังสามารถตั้งอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์อีกด้วย


[1] หมื่นโลกธาตุ หมายถึง หมื่นจักรวาล ซึ่งใน 1 จักรวาลนั้น จะประกอบไปด้วย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เขาสิเนรุ ทวีปทั้งสี่ 4 ได้แก่ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป ปุพพวิเทหทวีป และ อุตตรกุรุทวีป มหาสมุทรทั้งสี่ สวรรค์ 6 ชั้น พรหมโลก อรูปพรหม และอบายภูมิ

5.1.3 ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษ

ในพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการดังนี้

1) ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษประการที่ 1-8

  • 1. มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน (ฝ่าพระบาทเต็ม) คือ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ ทำให้เวลาพระพุทธองค์เสด็จพระดำเนินไปในที่ต่างๆ ดูแล้วสง่างาม เดินตัวตรง นุ่มนวล เหมือนช้างทรงของพระราชา เวลาเดินส่วนบนจะไม่เคลื่อนไหว เดินเหมือนเหิน เนื่องจากเดินเบา ไม่ส่ายไปส่ายมา เพราะมีพื้นเท้าที่เสมอกัน ทำให้น้ำหนักที่ลงไปสู่เท้าเวลาเดินมีน้ำหนักเท่ากัน จึงทำให้พระองค์เดินดูแล้วสง่างามมาก
  • 2. มีพื้นฝ่าพระบาททั้งสองของมหาบุรุษมีจักรซึ่งมีกำข้างละ 1,000 ซี่ มีกงมีดุมและมีส่วนประกอบครบทุกอย่าง คือ ลายเท้าของพระองค์ มีรูปเป็นกงจักร จึงทำให้พระองค์เดินได้อย่างคล่องแคล่ว พื้นเท้ามีความยืดหยุ่นดีในเวลาเดิน เป็นลักษณะของเฉพาะผู้นำธรรมจักรให้หมุนไป ยังสรรพสัตว์ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานนับไม่ถ้วน
  • 3. มีส้นพระบาทยื่นยาวออกไป ทำให้รับน้ำหนักได้ดี และแรงกดที่ลงมาทั้งตัวเฉลี่ยเท่ากัน จึงทำให้มีกำลัง เวลายืนจึงกระโดดได้ 40 ศอก และทรงร่างกายได้ผึ่งผายสง่างาม
  • 4. มีพระองคุลียาว ที่นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาท คือ นิ้วมือของพระองค์แต่ละนิ้วมีความยาวเท่ากัน สมบูรณ์ด้วยพละกำลัง ทำให้พระองค์เดินได้สะดวก ไม่ปวดเมื่อยง่าย
  • 5. มีพระหัตถ์และพระบาทอ่อนนุ่ม คือ ฝ่ามือและฝ่าเท้านุ่ม ไม่กระโดกกระเดก กระด้างแข็ง ลักษณะเช่นนี้แสดงว่า มีความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อดีมาก เปรียบเสมือนยางที่สามารถยืดตัวออกไปได้มากแค่ไหนก็สามารถที่จะกลับคืนตัวดังเดิมได้ ซึ่งทำให้พระองค์มีพละกำลังมาก เพราะคล่องตัวในทุกอิริยาบถ
  • 6. มีฝ่าพระหัตถ์และพระบาทมีเส้นที่ข้อพระองคุลีจดกันเป็นรูปตาข่าย คือ เป็นลายบางๆ จางๆ พอสังเกตออก เป็นเส้นสม่ำเสมอเป็นช่อง นิ้วมือ และนิ้วเท้าทั้ง 4 ชิดสนิทกัน เสมอกัน (เว้นแต่นิ้วหัวแม่มือและเท้า) ลักษณะเช่นนี้เป็นบุคคลที่มีฝ่ามือและฝ่าเท้าเต็ม และมีความอ่อนนุ่มด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มือและเท้านั้นมีกำลังมาก ไม่ว่าจะทำอะไรหรือเดินไปไหน จะพลิกตัวก็มีกำลังมากในการที่จะทำในสิ่งนั้นได้อย่างสะดวกสบาย
  • 7. มีข้อพระบาทสูง หลังพระบาทดุจหอยสังข์คว่ำ คือ กระดูกข้อพระบาทของพระองค์ตั้งลอยอยู่หลังพระบาท ไม่ติดกันกลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน หมายความว่า พระองค์มีข้อเท้าสูงกว่ามนุษย์ธรรมดาประมาณ 1 นิ้ว ส้นเท้ายื่นไปด้านหลังมากกว่ามนุษย์ธรรมดา พระองคุลีก็ยาวไปข้างหน้ามากกว่ามนุษย์ธรรมดา หรืออาจจะหย่อนกว่ากันนิดหน่อย เพราะฉะนั้น จะยาวออกทั้งหน้า หลัง บน เมื่อยืนพระบาทจึงคล้ายสังข์คว่ำ คือ นูน (ไม่บวม) อิ่ม (ไม่อืด, อวบ) ซึ่งทำให้ยืนและเดินได้อย่างมั่นคง กระโดดได้ไกลและสูง มีความยืดหยุ่น มีกำลังมาก
  • 8. มีพระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย คือ มีเนื้อหุ้มรอบแข้งเต็ม สัณฐานกลมงาม หมายความว่า มีแข้งเรียว กลม ยาว สวยและตรงด้วย ได้สัดส่วนรับกับข้อพระบาทที่สูง รับกับฝ่าพระบาทที่เต็ม รับกับหลังพระบาทที่อูมอิ่ม รับกับนิ้วพระบาทที่ยาว ส้นพระบาทที่ยาว รับกันสวยงามมาก อุปมาเหมือนลักษณะแข้งเนื้อทรายที่รัด แน่น เรียว งาม กลมกลืน ไม่เห็นเส้นเอ็นหรือกระดูก ซึ่งทำให้มีพละกำลังมาก ไม่ว่าจะเดินหรือขยับร่างกายในอิริยาบถไหนก็สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวสะดวก

2) ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษประการที่ 9-16

  • 9. เมื่อประทับยืนไม่ต้องน้อมพระองค์ลงก็ทรงลูบคลำถึงพระชานุด้วยฝ่าพระหัตถ์
  • ทั้งสองได้โดยที่ไม่ต้องน้อมหรือย่อตัวลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลักษณะรูปร่างของพระองค์ได้สัดส่วนเท่ากัน จึงทำให้พระองค์ดูสง่างามมากไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม และถ้าเหยียดแขนขึ้นไปข้างบนแล้วเอา 2 หาร จะได้ตรงกลางกาย คือศูนย์กลางกายฐานที่ 7 พอดี
  • 10. มีพระคุยหฐานเร้นอยู่ในฝัก คือ มีของลับเข้าฝัก ไม่ได้มีลักษณะเหมือนมนุษย์ทั่วไป ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบดูก็อาจจะเหมือนช้างที่อวัยวะเพศของตัวผู้เข้าไปซ่อนอยู่ข้างใน
  • 11. มีพระฉวีดุจสีทอง คือ คล้ายทองคำ คือ มีผิวหนังประดุจหุ้มด้วยแผ่นทองคำ มองดูแล้วเป็นที่ดึงดูดของผู้ที่ได้พบเห็น ซึ่งทำให้ประสาทสัมผัสของร่างกายดี ไม่ปวดเมื่อยง่าย
  • 12) มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลีไม่อาจติดพระวรกายได้ ซึ่งทำให้การขับถ่ายทางผิวหนัง เช่น เหงื่อ ของเสียที่ขับออกมาทางร่างกายจะถูกขับออกมาดีมาก และถ้าเกิดเป็นแผลที่ผิวหนังก็จะทำให้หายง่ายเร็วกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้การยืดหยุ่นที่ผิวก็ดีด้วย ดังนั้นเวลาจะทำอะไรก็ตาม ทำให้ไม่เหนื่อยง่ายไม่เพลียง่าย
  • 13) มีพระโลมชาติเดี่ยว คือ ในแต่ละขุมขนมีเพียงเส้นเดียว แต่ละเส้นเสมอกันทุกขุมขน ไม่มีเล็กไม่มีใหญ่ สวยงามเหมือนกันหมด และขนเกิดขึ้นขุมละเส้น เส้นหนึ่งอยู่ขุมหนึ่ง ซึ่งทำให้การขับเหงื่อ สามารถระบายความร้อนในตัวได้ดี แล้วก็มีประสิทธิภาพในการใช้อาหารในร่างกายให้เกิดเป็นพละกำลังต่อร่างกายได้ดีมาก
  • 14) มีพระโลมชาติปลายงอนขึ้น คือ พระโลมชาติขอดเป็นวง เวียนขวาดังกุณฑล
  • สีครามเข้มดังดอกอัญชัน คือ เส้นขนหมุนวนขวาเวียนประทักษิณ
  • 15) มีพระวรกายตั้งตรงดุจพรหม คือ ท่อนกายตั้งตรงไม่น้อมไปข้างหน้าหรือข้างหลังเหมือนกายของพรหม กายของพระองค์ตรง สง่าผ่าเผย ไม่คดไม่งอ เวลาเอี้ยวตัวจะงามพอดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กายของพระองค์ได้สมดุลน้ำหนักตัวทั้งซ้าย และขวาจะเท่ากัน จึงทำให้ยากที่จะเซหรือหกล้มได้
  • 16) มีพระมังสะในที่ 7 แห่งเต็มบริบูรณ์ คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง จงอยพระอังสะทั้งสอง และพระศอ หรือที่ลำคอมีระหว่างพระอังสาเต็ม จะไม่มีเว้าแหว่ง และมีพระศอเต็มกลมกลึงสวยงาม มีเนื้อเต็ม เป็นลักษณะที่อูมอิ่มไม่เหมือนอาการบวม หมายความว่า มีเนื้อเต็มพอดี ไม่ย่น ไม่เห็นกระดูก เส้นเอ็น มีบ่าอิ่มเต็มพอดี ไม่เห็นไหปลาร้า ลำคอกลม ไม่เห็นเส้นและลูกกระเดือก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การที่มีหลังพระหัตถ์และหลังพระบาท และพระอังสามีเนื้อเต็มพอดีนั้น ก็จะทำให้มีกำลังมีเรี่ยวแรงในการทำการงานหรือแม้แต่เวลาปฏิบัติธรรมก็จะ
  • ไม่ปวดไม่เมื่อยง่าย สามารถนั่งได้นานๆ ส่วนลักษณะที่มีลำคอกลม ไม่เห็นลูกกระเดือก ซึ่งมีผล
  • ทำให้เสียงดีมาก และมีผลทางด้านการกินอาหาร กลืนอาหาร

3) ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษประการที่ 17-24

  • 17) มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ คือ อกผายไหล่ผึ่ง มีความองอาจสง่างาม มั่นคงประดุจขุนเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อวัยวะช่องอก เช่น ปอด เป็นต้น หรือแม้กระทั่งตับก็มีพลัง มีกำลังในการทำงาน ทำให้มีสุขภาพที่ดีมาก
  • 18) มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน คือ หลังเต็มบริบูรณ์ ตั้งแต่เอวขึ้นไปถึงคอ มีเนื้อเต็ม ซึ่งไม่ใช่แผ่นกระดาน และไม่เป็นร่องด้านหลังเหมือนกับคนทั่วไป แสดงให้เห็นว่า กล้ามเนื้อหลังมีสปริงดีมาก มีความยืดหยุ่นดี
  • 19) มีพระวรกายเป็นปริมณฑลดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร พระวรกายสูงเท่ากับ 1 วา ของพระองค์ (1 วาของพระองค์เท่ากับส่วนสูงพระวรกาย) คือ กายกับวาของพระองค์เท่ากัน เมื่อกางแขนเหยียดออกทั้ง 2 ข้าง ก็จะมีความยาวเท่ากับความสูงของพระพุทธองค์ ซึ่งมนุษย์ทั่วไปที่มีความสูงเท่ากับความยาวของวาตนเองเท่ากันนั้นยากมาก ส่วนใหญ่ถ้าไม่ขาดก็เกิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นสรีระที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม ทำให้ร่างกายไม่ปวดไม่เมื่อยในเวลาปฏิบัติธรรม
  • 20) มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด คือ ลำคอกลมเกลี้ยงงาม เมื่อเปล่งเสียงจะไม่เห็นเส้นที่ลำคอเลย ไม่มีลูกกระเดือกแหลมออกมา ไม่มีเหนียงยาน ไม่เหี่ยว ไม่ยาน ซึ่งทำให้เสียงของพระองค์ดีมาก และไม่เป็นโรคหวัด
  • 21) มีเส้นประสาทรับรสพระกระยาหารได้ดี คือ มีเส้นประสาทสำหรับรับรสอยู่ 7,000 เส้น รสของอาหารแม้เท่าเมล็ดงาก็แผ่ซ่านไปทั้งร่างกายได้ เปรียบเทียบกับลิ้นของบุคคลทั่วไปเป็นประเภทลิ้นชา เหมือนลิ้นจระเข้กินอะไรก็ไม่รู้รส หรือรู้รสแต่การดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกายไม่ค่อยดี แต่ของพระองค์มีประสาทรับรสอันเลิศ ทำให้การดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกายดีมาก แม้กินอาหารน้อยก็ได้รับสารอาหารมาก เนื่องจากบุคคลทั่วไปที่กินอาหารก็ทำให้มีกากอาหารมาก ส่วนของพระองค์มีกากอาหารน้อย เพราะการรับรส การย่อยอาหารดีมาก ดังเช่นในตอนที่จะหาวิธีการเพื่อการตรัสรู้ พระองค์ได้อดอาหารจนกระทั่งผอมมาก ถ้าเอามือลูบท้องเหมือนกับโดนกระดูกสันหลัง เอามือลูบสันหลังเหมือนกับโดนหน้าท้อง แต่พระองค์ก็ยังไม่มรณภาพ แล้วเมื่อวันที่จะตรัสรู้ได้เสวยข้าวมธุปายาสของนางสุชาดา 49 ปั้น ทำให้พระองค์อยู่ได้ถึง 49 วัน
  • 22) มีพระหนุดุจคางราชสีห์ คือ พระหนุ หมายถึง คางของพระองค์มีลักษณะมน สวย โค้งเหมือนวงพระจันทร์ ซึ่งอุปมาเหมือนคางของราชสีห์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ฟันของพระองค์แข็งแรงมาก ไม่โยกไม่หักง่าย
  • 23) มีพระทนต์ 40 ซี่ คือ พระองค์มีฟัน 40 ซี่บริบูรณ์ ซึ่งทำให้ใบหน้าตึง และกล้ามเนื้อมุมปากเหมือนยิ้มแย้ม ทำให้เคี้ยวอาหารได้ละเอียด พระองค์ไม่ต้องสูญเสียพลังในการย่อยอาหารมาก ทำให้พระวรกายแข็งแรงเพราะได้รับสารอาหารได้เต็มที่
  • 24) มีพระทนต์เรียบเสมอกัน คือ พระองค์มีฟันเรียงเป็นระเบียบสวยงาม การบดเคี้ยวอาหารทำได้ดีมาก ไม่เป็นโรคฟัน

4) ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษประการที่ 25-32

  • 25) มีพระทนต์ไม่ห่างกัน คือ ฟันไม่ห่าง ไม่โยกเก เรียบสนิทชิดกัน ไม่มีช่องว่าง ทำให้เศษอาหารไม่ติดฟัน สามารถควบคุมการทำงานของแบคทีเรียได้ดี ส่งผลให้ฟันมีความคงทนไม่ผุ และฟันไม่ยื่นเขยิน คือ ฟันบนจะยื่นเลยออกไปจากฟันล่างนิดหน่อย จะทำให้เคี้ยวอาหารได้ดีและแหลก ซึ่งทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ทำงานไม่หนัก จึงทำให้ได้รับประโยชน์จากสารอาหารอย่างเต็มที่ และมีกำลังเรี่ยวแรงมาก อายุยืน
  • 26) มีพระเขี้ยวแก้วขาวงาม คือ มีเขี้ยวสีขาวงาม เป็นฟันที่สมบูรณ์ และฟันเขี้ยวใสมาก ซึ่งในขณะที่พระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์ แสงแดดที่ส่องกระทบจะสะท้อนเป็นประกายวาว เหมือนแสงแดดที่ตกกระทบกระจกเงา
  • 27) มีพระชิวหาใหญ่ยาว คือ มีลิ้นอ่อนและกว้างยาวกว่าคนทั่วไป สามารถแลบลิ้นออกมาให้ถึงหูทั้ง 2 ข้างได้ และแลบออกมาปิดหน้าผากได้ จะทำให้กลมก็ได้ ทำให้แผ่ใหญ่ออกมาก็ได้ ซึ่งถือว่าเป็นลิ้นที่สมบูรณ์ ทำให้การรับรสอาหาร และการซึมของสารอาหารที่เข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้ดี เพราะมีปลายเส้นประสาทสำหรับรับรสอาหารได้ตั้งแต่ที่ลิ้น ถ้าป่วยก็จะฟื้นไข้ได้เร็ว
  • 28) มีพระสุรเสียงพรหม ตรัสดุจเสียงร้องของนกการเวก คือ ทุกครั้งที่พระองค์ตรัสเทศนา จะมีพระสุรเสียงน่าฟัง ไพเราะเหมือนเสียงนกการเวก สรรพสัตว์ทั้งมนุษย์และเทวดาต้องหยุดฟังทันที ซึ่งเสียงนี้ประกอบด้วยองค์ 8 อันได้แก่ เสียงสละสลวย เสียงรู้ได้ง่าย เสียงไพเราะ เสียงน่าฟัง เสียงหยดย้อย เสียงไม่แหบเครือ เสียงลึก และเสียงก้อง การที่มีเสียงไพเราะมากก็เพราะคอกลม ทั้งลิ้นทั้งฟันได้สัดส่วนหมดทุกอย่าง
  •  29) มีดวงพระเนตรดำสนิท คือ นัยน์ตาของพระองค์มีสีดำเหมือนสีนิล สีเขียวเข้ม เป็นนัยน์ตาที่คมแสดงถึงความสง่างาม และความมีอำนาจ พร้อมทั้งแสดงถึงความมีเมตตากรุณาที่แฝงไว้ในดวงตา ซึ่งทำให้พระองค์เป็นที่น่าเคารพ และเกรงขามมาก และยังทำให้เห็นได้ไกล ได้เร็ว และชัดเจน แม้จะอยู่ในที่มืด
  • 30) มีดวงพระเนตรแจ่มใส ดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด คือ ตาของพระองค์จะสุกใสมาก เป็นสายตาที่บ่งบอกถึงความไม่มีมารยา อ่อนโยน และประกอบด้วยเมตตาธรรม เป็นมิตรกับทุกคน ทำให้น่าเข้าใกล้
  • 31) มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนงสีขาวอ่อนเหมือนปุยนุ่น คือ ที่กลางหน้าผากระหว่างคิ้ว จะมีขนสีขาวอ่อนๆ นุ่มเหมือนปุยสำลีเวียนขวาเป็นทักขิณาวัฏ ปลายชี้ขึ้น ซึ่งทำให้ใบหน้าดูเด่นสง่างาม เพราะจะรวบระหว่างคิ้ว หน้าผาก ทำให้กรอบหน้าดูแล้วสมส่วน หน้าผากดูไม่สูงไป ใหญ่ไปหรือยาวไป
  • 32) มีพระเศียรดุจประดับกรอบพระพักตร์ คือ มีเนื้อนูนตั้งแต่หูขวาปากขอบหน้าผากมาถึงหูซ้าย ศีรษะกลมงามบริบูรณ์นูนขึ้นเบื้องบน หมายความว่า พระองค์ทรงมีศีรษะรับกับ กรอบหน้า งามสมดุลได้สัดส่วน ทำให้ใบหน้าของพระองค์ได้สัดส่วนเท่ากัน 2 ซีก ด้านบนของ พระเศียรก็มีจอมกระหม่อมสง่างามมากเหมือนสวมมงกุฎ ดูสง่างาม กะโหลกศีรษะสวย พอเส้นผมขดทักขิณาวัฏเกาะติดศีรษะจะสง่างามมาก เส้นผมแนบสนิท สูง (หนา) กำลังดี ปลายช้อนขึ้นนับจำนวนได้ คือ กลุ่มผมนับเส้นได้ว่ามีกี่เส้นต่อหนึ่งขด กี่ขดต่อหนึ่งเศียร เป็นระเบียบ ไม่ยุ่งเหยิง (ที.ปา. 11/198/159-163 มจร)

ดังนั้น ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ คือ ผู้ที่มีร่างกายที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งบังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพแห่งบุญ และพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Complete and Continue