5.1 พรหมภูมิ (17:09)

บทที่ 5 พรหมภูมิ

ความนำ

พรหมภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของรูปพรหมซึ่งเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้เจริญภาวนาจนกระทั่งทำรูปฌานให้บังเกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกแล้วจึงมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในชั้นต่างๆ ตามกำลังความแก่อ่อนของฌานของตน รูปภพมีทั้งหมด 16 ชั้น มีทิพยสมบัติทั้งหลายที่ละเอียดประณีตมากกว่าในเทวภูมิหลายเท่า รูปพรหมที่อยู่ในแต่ละชั้นมีรัศมีกายที่สว่างไสวมากน้อยแตกต่างกัน รูปพรหม ที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าจะมีรัศมีกายที่สว่างและประณีตมากกว่าในชั้นล่าง อายุของรูปพรหมที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าจะยาวนานกว่าในชั้นล่าง (รูป)

5.1 ความหมายของคำว่า พรหมภูมิ

      พรหมภูมิ หรือ พรหมโลก คือ ภพอันเป็นที่อยู่ของรูปพรหม พรหมโลกนี้อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่าเทวภูมิ กล่าวคือ สูงกว่าสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีขึ้นไปอีกห้าล้านห้าแสนแปดพันโยชน์ ทั้งยังมีทิพยสมบัติทั้งหลายที่มีความสวยงามประณีตกว่าในเทวภูมิมากขึ้นไปอีก

       พรหม คือ ผู้ที่มีความเจริญอยู่ด้วยคุณพิเศษ มีฌาน เป็นต้น รูปร่างของพรหมนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นหญิงหรือชาย เพราะพรหมไม่มีกามฉันทะอย่างหยาบ คือ ไม่มีความกำหนัดยินดีในกาม ด้วยเหตุว่าท่านเหล่านี้มีความใฝ่ใจในการบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างมาก แม้ตั้งแต่ในสมัยที่เป็นมนุษย์ก็สามารถข่มกามฉันทะได้อยู่แล้วในขณะที่กระทำฌานให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี พรหมนั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายชายมากกว่า ผู้ที่เจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งเข้าถึงรูปฌาน เช่น พระภิกษุ สามเณร หรือพวกฤๅษี ดาบส นักพรต โยคี เป็นต้น เมื่อละโลกแล้วก็จะมาบังเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ในรูปภพ มีอายุยาวนานมากกว่าชาวสวรรค์ที่อยู่ในเทวภูมิมากมายนัก

       พรหมทั้งหลายนั้นมีความพิเศษกว่าสัตว์ทั้งหลายในภพภูมิอื่นอย่างหนึ่ง คือ หมดความจำเป็นในการบริโภคอาหารเหมือนสัตว์ในภูมิอื่น ด้วยเหตุว่าพรหมทั้งหลายนั้นย่อมแช่มชื่นเอิบอิ่มโดยมีฌานสมาบัติเป็นอาหาร นอกจากนี้ สรีระร่างกายและใบหน้าของพรหมยังมีสัณฐานกลมเกลี้ยงสวยงามมาก มีรัศมีออกจากกายเลื่อมเป็นประภัสสร สว่างไสวกว่ารัศมีของพระอาทิตย์และพระจันทร์หลายพันเท่า หากปรารถนาจะให้รัศมีสว่างไปทั่วจักรวาลก็ย่อมทำได้ อวัยวะร่างกายที่ต่อกัน เช่น หัวเข่า หรือข้อศอก เป็นต้น ก็มีความกลมเกลี้ยงเรียบงามมาก มองดูไม่รู้เลยว่าเป็นส่วนรอยต่อของอวัยวะ อีกประการหนึ่ง เกศเกล้าของพรหมก็งดงามมาก เหนือศีรษะจะประดับด้วยชฎา เสวยสุขอยู่ในพรหมโลกตราบสิ้นกาลนาน

      อนึ่ง ใบหน้าของพรหมที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจกันไปว่ามีอยู่ 4 หน้านั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากความเป็นจริงอยู่มาก หากเป็นเช่นนั้นแล้วความงดงามอันเกิดจากคุณธรรมที่ได้สั่งสมไว้คงจะลดน้อยลงไปเป็นอันมาก แท้จริงแล้วพรหมนั้นมีใบหน้าเพียง 1 หน้าเท่านั้น เหมือนอย่างกับมนุษย์และเทวดาโดยทั่วๆ ไปที่มีใบหน้าเพียง 1 หน้า เป็นใบหน้าที่ผุดผ่อง งดงาม มีรัศมีสว่างไสวตามอำนาจของฌานที่ท่านได้เข้าถึง

5.2 หลักฐานเกี่ยวกับพรหม

    

  มีหลักฐานจำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงเรื่องของพรหมไว้ นักศึกษาอาจย้อนกลับไปทบทวนในตำราเรียนวิชาจักรวาลวิทยา บทที่ 4 เรื่องการกำเนิดโลกและมนุษย์ ซึ่งได้กล่าวถึงการกำเนิดมนุษย์ในยุคแรกไว้ว่า หลังจากที่แผ่นดินเกิดขึ้นแล้ว ได้มีพรหมพวกหนึ่ง เรียกว่า อาภัสสราพรหม จุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นการเกิดโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ เกิดแล้วโตเต็มวัยในทันที เรียกการเกิดชนิดนี้ว่า เกิดแบบโอปปาติกะ1)

      และในอีกที่หนึ่งปรากฏใน อัปโปสสุกกถา2) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ ควงไม้อชปาลนิโครธ ทรงมีพระปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นว่า ธรรมที่ทรงบรรลุนั้นมีความลึกซึ้งละเอียดประณีต รู้เห็นตามได้ยาก หากพระองค์จะทรงแสดงธรรมก็จะเป็นการยากที่สัตว์ทั้งหลายจะรู้ทั่วถึงธรรมนั้น เมื่อทรงพิจารณาอย่างนี้แล้ว ทรงมีพระทัยน้อมไปเพื่อความขวนขวายน้อย ไม่น้อมไปเพื่อทรงแสดงธรรม 

      ครั้งนั้น ท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งอยู่ในมหาพรหมาภูมิ ทราบถึงพระปริวิตกแห่งจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเสื่อมใหญ่จะเกิดขึ้นแก่โลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะไม่ได้ฟังธรรม จึงลงจากพรหมโลกมาปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในทันที แล้วกราบทูลให้พระองค์ทรงแสดงธรรม เพราะสัตว์ทั้งหลายพวกที่มีธุลีในดวงตาน้อยยังมีอยู่ คือ ผู้ที่มีกิเลสเบาบางมีอยู่ หากได้ฟังธรรม แล้วจักเข้าถึงธรรมได้ พระพุทธองค์ทรงทราบคำทูลอาราธนาของพรหม เมื่อทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุแล้วจึงตรัสตอบท้าวสหัมบดีพรหมว่า พระองค์จะทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอาศัยพระมหากรุณาธิคุณ

      จากหลักฐานที่นำมาแสดงนี้จะเห็นได้ว่า พรหมทั้งหลายนั้นมีอยู่จริง อีกทั้งพรหมโลกก็มีอยู่จริง และที่แท้แล้ว พรหมทั้งหลายนั้นความจริงก็คืออดีตมนุษย์นั่นเอง ที่เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้หมั่นเจริญสมาธิภาวนาจนกระทั่งทำฌานให้บังเกิดขึ้น และคุณธรรมคือพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นอยู่ภายในตัว เมื่อละสังขารจากโลกนี้ไปแล้วจึงไปบังเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก  

------------------------------------------------------------------ 

  • 1) อัคคัญญสูตร, ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค, มก. เล่ม 15 ข้อ 56 หน้า 150.
  • 2) อับโปสสุกกถา, พระวินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 ข้อ 7 หน้า 29-33.

Complete and Continue