ภวัคคพรหม (17:15)

ภวัคคพรหม

     การประพฤติปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับตัวเราเองและมวลมนุษยชาติ ใครก็ตามที่รู้วิธีการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องสมบูรณ์ และมีความเพียรทำอย่างสมํ่าเสมอ คุณธรรมที่ดีงามต่างๆ จะเพิ่มพูนขึ้นมาในใจของบุคคลนั้น ทำให้เป็นผู้ที่สามารถครองตนด้วยธรรมะ และจะเป็นที่รักของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย หากมีธรรมะเป็นอาภรณ์แล้ว ก็จะเป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่า ธรรมะนี้แหละจะเป็นที่พึ่งให้กับตัวของเราได้ตลอดเวลา เป็นอริยทรัพย์คู่กายที่อมตะมั่นคงที่สุด ที่จะติดตามตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ให้หมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมกันให้ดี เราจะได้เป็นเจ้าของสมบัติอันลํ้าค่านี้กันทุกคน

 มีวาระพระบาลีที่ปรากฏอยู่ใน พรหมชาลสูตร ว่า

     "พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอบงำสรรพสัตว์เบื้องบนถึงภวัคคพรหม เบื้องล่างถึงอเวจีเป็นที่สุด เบื้องขวางในโลกธาตุอันหาประมาณมิได้ ด้วยศีลบ้าง ด้วยสมาธิ(Meditation)บ้าง ด้วยปัญญาบ้าง ด้วยวิมุตติบ้าง ด้วยวิมุตติญาณทัสสนะบ้าง การจะชั่งหรือประมาณพระองค์ หามีไม่ พระองค์เป็นผู้ไม่มีใครเทียบเคียงได้ อันใครๆ ประมาณไม่ได้ เป็นผู้ยอดเยี่ยม เป็นพระราชาที่พระราชาทรงบูชา คือ เป็นเทพที่ยิ่งด้วยเทพ เป็นพรหมที่ยิ่งกว่าพรหมทั้งหลาย "

     อานุภาพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นอานุภาพที่ไม่มีประมาณ และไม่มีขอบเขตจำกัด หลวงพ่อยกพระบาลีข้างต้นขึ้นมาเพื่อจะอธิบายคำว่า ภวัคคพรหม ว่าอยู่ที่ไหน เพราะเท่าที่ได้อธิบายเรื่องของพรหมโลก ก็ยังไม่พบชื่อพรหมโลกชั้นนี้ว่าอยู่ในรูปภพหรืออรูปภพ

    * คำว่า ภวัคคพรหม นี้มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก หมายถึง พรหมโลกชั้นสูงสุด รากศัพท์มาจากคำว่า ภว ที่แปลว่า ภพ อคฺค แปลว่าสูงสุดหรือยอด ภวัคคพรหม จึงหมายถึง พรหมที่อยู่ชั้นยอดสุดของภพ เป็นอีกชื่อหนึ่งของอรูปภพชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะนั่นเอง นักปราชญ์ทั้งหลายท่านไม่นิยมเรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ แต่จะเรียกกันจนติดปากในแวดวงของผู้รู้ด้วยกันว่า ภวัคคพรหม ซึ่งเป็นคำที่สั้นๆ และเข้าใจได้ง่าย ถ้าสูงจากภวัคคพรหมนี้ไปก็เป็นอายตนนิพพาน

    เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับภวัคคพรหม หรือเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ซึ่งมีความละเอียดที่สุดในบรรดาภพ ๓ นี้ ส่วนจะละเอียดเพียงใดนั้น ท่านผู้รู้ได้อุปมาไว้ว่า มีสามเณรน้อยรูปหนึ่ง มีจิตบริสุทธิ์และมีความขยันขันแข็งมาก คอยทำหน้าที่อุปัฏฐากพระเถระ เช้าวันหนึ่งสามเณรเอานํ้ามันมาทาบาตรของพระอาจารย์เพื่อให้แลดูใหม่อยู่เสมอ แล้วเก็บไว้ ต่อมาพระอาจารย์บอกสามเณรว่า ให้ช่วยเอาบาตรมาให้หน่อย สามเณรผู้ช่างสงสัยได้ถามว่า พระอาจารย์จะเอาบาตรมาทำไม พระเถระบอกว่า “เราจะเอาบาตรมาใส่ข้าวยาคูแล้วฉันนะสิ สามเณร” เนื่องจากบาตรที่สามเณรทานํ้ามันเอาไว้นั้นยังไม่แห้งสนิท สามเณรจึงตอบว่า "บาตรมีนํ้ามัน ยังไม่ควรเอาไปใส่ข้าวยาคู"

    พระอาจารย์บอกว่า “ก็ดีสิสามเณร เอามาเถอะ ถ้าบาตรมีนํ้ามัน เราจะเอาน้ำมันใส่ไว้ในกระบอกนํ้ามัน” สามเณรตอบว่า “นํ้ามันไม่มีขอรับ” พระเถระได้ฟังถ้อยคำของสามเณรใจซื่อเช่นนั้น เริ่มรู้สึกหงุดหงิด เพราะไม่รู้ว่าสามเณรจะเอายังไงกันแน่

    ในเรื่องนี้มีคำเฉลยว่า น้ำมันที่ทาชโลมบาตรจนทั่วนั้นมีอยู่ เพราะฉะนั้น สามเณรน้อยจึงตอบพระอาจารย์ว่าบาตรมีนํ้ามัน ครั้นท่านอาจารย์เกิดความคิดที่จะเอาน้ำมันมาใส่กระบอก สามเณรกลับตอบว่าไม่มี ที่ตอบไปเช่นนั้นก็เพราะ พระอาจารย์เข้าใจผิด จะเอานํ้ามันในบาตรไปถ่ายใส่ลงในกระบอกนํ้ามัน ซึ่งที่จริงแล้ว นํ้ามันมีอยู่เพียงฉาบทาติดบาตรเท่านั้น เพราะฉะนั้น สามเณรน้อยผู้แสนซื่อจึงตอบท่านอาจารย์ไปว่าน้ำมันไม่มี อุปมานี้ฉันใด

    เนวสัญญานาสัญญายตนอรูปพรหมนี้ก็เหมือนกัน จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญานั้นมีแต่ก็เหมือนกับไม่มี โดยที่เป็นสภาวะสุขุมละเอียดประณีตยิ่งนัก คือเหลือน้อยมาก ครั้นจะบอกว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะว่ายังมีสัญญาเหลืออยู่ เหมือนกับน้ำมันที่ทาติดบาตรอยู่ฉันนั้น

    นอกจากนี้ยังมีอุปมาที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เข้าใจกันคนละเรื่อง สืบเนื่องจากสื่อสารไม่เข้าใจกัน ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า สามเณรน้อยกับท่านพระอาจารย์ผู้ชรา พากันเดินทางเข้าไปในป่า หลังจากเดินทางกันมาเหน็ดเหนื่อยแล้ว สามเณรน้อยซึ่งเดินตามหลังท่านอาจารย์ ก็ได้รับอนุญาตให้เดินไปข้างหน้า เพราะท่านอาจารย์เกรงว่าสามเณรจะอึดอัดใจในการที่ต้องเดินตามหลังตัวเอง ซึ่งเดินงุ่มง่ามด้วยความเหน็ดเหนื่อยและกระหายนํ้า สามเณรได้โอกาสจึงรีบเดินล่วงหน้าไปก่อน ครั้นเดินทางไปถึงลำธารที่แห้งขอดแห่งหนึ่ง สามเณรก็ตะโกนมาว่า ให้พระอาจารย์ถอดร้องเท้าออกด้วย เพราะรองเท้าจะเปียกนํ้า

    พระอาจารย์ร้องบอกไปว่า “ก็ดีสิ สามเณร ถ้างั้นละก็ ฉันจะได้สรงนํ้าให้ชุ่มใจเสียที อยากจะเจอนํ้ามานานแล้ว” ท่านกล่าวด้วยความดีใจสุดขีด เพราะมีความปรารถนาจะอาบและดื่มนํ้า และได้ปลดบาตรออกจากบ่า ทำท่าจะผลัดจีวรสบงเพื่อลงสรงน้ำ สามเณรพูดขึ้นอีกว่า “น้ำไม่มี ขอรับ” พระอาจารย์รู้สึกหงุดหงิดในคำพูดกลับไปกลับมาของสามเณร จึงกล่าวตู่สามเณรว่าเป็นคนพูดมุสา

    สามเณรถูกปรับว่าเป็นคนศีลขาดเสียแล้ว ก็รีบเข้ามาหาท่านพระอาจารย์ และบอกความจริงว่า ตัวเองไม่มีเจตนาจะแกล้งพระอาจารย์ เนื่องจากว่า สามเณรไปเห็นนํ้าเปียกชุ่มหนทางข้างหน้าอยู่ เกรงว่ารองเท้าอาจารย์จะเปียก จึงกราบเรียนให้ถอดเสียก่อน แต่น้ำมีปริมาณเพียงแค่เปียกรองเท้าเท่านั้น ไม่มีมากพอที่จะสรงได้ ความจริงเป็นเช่นนี้ พระอาจารย์ฟังคำชี้แจงก็สบายใจ “เออ ถ้าอย่างนั้น ศีลเจ้าไม่ขาด” ท่านอาจารย์พูดแล้ว ก็คว้าบาตรขึ้นสะพายบ่า ถอดรองเท้าขึ้นหิ้ว แล้วมุ่งหน้าเดินทางต่อไป ในตัวอย่างเรื่องนี้ มีคำชี้แจงว่า น้ำที่เปียกชุ่มหนทางนั้น มีอยู่จริง สามเณรผู้หวังดีต่อพระอาจารย์จึงบอกพระอาจารย์ไปอย่างนั้น แต่ครั้นไปถึงจริงๆ กลับใช้ประโยชน์จากนํ้านั้นได้ไม่เต็มที่ เพราะมีแต่ก็เหมือนไม่มี

    ในเนวสัญญานาสัญญายตนอรูปพรหมนี้ก็เหมือนกัน จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะสัญญานั้นมีแต่เหมือนกับไม่มี โดยที่มีสภาวะสุขุมละเอียดประณีตยิ่งนัก คือ เหลือน้อยมาก เหมือนกับในหนทางซึ่งมีนํ้าเหลือน้อยเต็มที เพียงทำให้เดินชุ่มฝ่าเท้าได้เท่านั้น

    อรูปพรหมชั้นสูงสุดนี้มีความละเอียดประณีตมาก ผู้ที่มาอยู่ในอรูปพรหมในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมินี้ เดิมท่านก็เป็นอดีตมนุษย์ที่มีคุณธรรมคุณวิเศษ ที่ได้สำเร็จอรูปฌานสมาบัติขั้นสูงสุด ท่านอยู่กับการทำภาวนาอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌานสมาบัติ จึงได้มีโอกาสมาอุบัติเกิดเป็นภวัคคพรหม คือ อรูปพรหมในอรูปภพสูงสุดยอดแห่งนี้ สถิตเสวยสุขอันประณีต จนกว่าจะถึงพรหมอายุขัยคือ มีประมาณ ๘๔,๐๐๐ มหากัป จึงจะจุติ

    การมีอายุยืนนานนี้จะว่าเป็นการดีก็ไม่ชัด เพราะเมื่อหวนนึกถึงภัยในวัฏสงสารแล้ว ก็เป็นการยืดหนทางในสังสารวัฏให้นานออกไป และเมื่อไรจึงจะหลุดพ้นได้บรรลุมรรคผล ก็ไม่มีผู้ใดพยากรณ์ได้ เพราะหากไปเกิดในรูปพรหมหรืออรูปพรหมนี้แล้ว นานมากๆ กว่าที่จะได้มีโอกาสมาพบพระพุทธศาสนา แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายพระองค์ตรัสรู้ธรรมไปแล้ว แต่ตนเองก็ยังติดอยู่ในอรูปภพ ยังไม่มีโอกาสพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงนี้ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่ง เพราะถ้าไม่พบผู้รู้ก็ยังไม่พบหนทางหลุดพ้นจากทุกข์ 

     เมื่อไม่พบพระพุทธศาสนา การบรรลุมรรคผลก็ไม่มี ดูแล้วก็คล้ายๆ กับเป็นการเสื่อมจากประโยชน์อันอุดมคืออมตมหานิพพาน ดังเช่น พระดาบสผู้เคยเป็นอาจารย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ที่ท่านได้ไปอุบัติในอรูปภพแห่งนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงกับอุทานว่า “ฉิบหายใหญ่แล้ว” ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ครั้งต่อไปเราจะมาเรียนรู้กันต่อ ให้ทุกท่านหมั่นตั้งใจนั่งธรรมะกันให้ดี ในโลกนี้ยังมีเรื่องราวมากมายที่เรายังไม่รู้ และต้องการความกระจ่าง ถ้าเราหยุดนิ่งจนเข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นผู้รู้แจ้งภายในได้ ความสงสัยทั้งปวงก็จะเริ่มคลี่คลาย แล้วเราจะกลายเป็นผู้รู้แจ้งมากขึ้นไปเรื่อยๆ

Complete and Continue