5.3 ระดับชั้นของรูปพรหม (34:27)

5.3 ระดับชั้นของรูปพรหม     

 เราได้ทราบแล้วว่า การมาบังเกิดเป็นรูปพรหมนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่ใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งกระทำฌานให้เกิดขึ้นได้ เมื่อละโลกไปแล้วก็จะไปบังเกิดเป็นพรหม

พรหมมีด้วยกัน 16 ชั้น

      ในบรรดารูปพรหมทั้งหลายยังมีการแบ่งระดับชั้นตามภูมิที่อยู่ ซึ่งมีทั้งหมด 16 ชั้น มีหลักการแบ่งชั้น คือ แบ่งตามระดับความแก่อ่อนของกำลังฌาน รูปพรหมที่มีกำลังฌานอ่อน จะอยู่ในชั้นล่างๆ ส่วนรูปพรหม ที่มีกำลังฌานแก่ จะอยู่ในชั้นที่สูงขึ้นไป รูปพรหมทั้ง 16 ชั้น มีการจัดกลุ่มตามกำลังฌานที่เข้าถึง คือ รูปฌาน 4 โดยไล่ตามกำลังฌานอ่อนที่สุดไปถึงกำลังฌานแก่ที่สุด ดังนี้

  • 1. ปฐมฌานภูมิ 3 ประกอบด้วย พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ และมหาพรหมาภูมิ
  • 2. ทุติยฌานภูมิ 3 ประกอบด้วย ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ และอาภัสสราภูมิ
  • 3. ตติยฌานภูมิ 3 ประกอบด้วย ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ และสุภกิณหาภูมิ
  • 4. จตุตถฌานภูมิ 7 ประกอบด้วย เวหัปผลาภูมิ อสัญญีสัตตาภูมิ และพรหมสุทธาวาสภูมิ 5

5.3.1 ปฐมฌานภูมิ 3

      เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้ปฐมฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน มิได้ตั้งอยู่สูงต่อๆ กันไปตามลำดับชั้นอย่างสวรรค์ ประกอบด้วย พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ มหาพรหมาภูมิ 

การมาบังเกิดเป็นรูปพรหมนั้น จะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่ใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอ

จนกระทั่งกระทำฌานให้เกิดขึ้นได้

  • 1. พรหมปาริสัชชาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างอ่อน พรหมที่อยู่ในชั้นนี้เป็นพรหมธรรมดาสามัญ ไม่มีอำนาจพิเศษอันใด ทำหน้าที่เป็นบริษัทหรือเป็นบริวารของมหาพรหม พรหมชั้นนี้ มีอายุ 1 ใน 3 ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
  • 2. พรหมปุโรหิตาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างกลาง พรหมที่อยู่ในชั้นนี้เป็นปุโรหิตหรือเป็นที่ปรึกษาของมหาพรหม และอยู่ในตำแหน่งผู้นำในกิจการทั้งหลายของมหาพรหม พรหมชั้นนี้มีอายุ 1 ใน 2 ของวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
  • 3. มหาพรหมาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานอย่างแก่ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งกว่าพรหมปาริสัชชาและพรหมปุโรหิตา และมหาพรหมาภูมิยังเป็นที่อยู่ของท้าวสหัมบดีพรหม ซึ่งเป็นผู้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์อีกด้วย พรหมชั้นนี้มีอายุ 1 วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป 

      การจัดแบ่งสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ปฐมฌานนั้นมีหลักการคือ พรหมที่ได้ฌานอย่างแก่ มีบุญมาก มีรัศมีสว่างไสว จะอยู่ที่ศูนย์กลางภพ ส่วนพรหมที่มีกำลังฌานรองลงไป จะอยู่ถัดออกไปโดยรอบ กล่าวคือ ศูนย์กลางภพเป็นที่อยู่ของมหาพรหม ถัดออกไปเป็นที่อยู่ของพรหมปุโรหิตา และที่อยู่วงนอกสุดเป็นที่อยู่ของพรหมปาริสัชชา สำหรับการจัดแบ่งสถานที่อยู่ของพรหมในทุติยฌานภูมิและตติยฌานภูมิ ก็ใช้หลักการ เดียวกันนี้

5.3.2 ทุติยฌานภูมิ 3

      เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้ทุติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นปฐมฌานภูมิ ประกอบด้วย ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภาภูมิ อาภัสสราภูมิ

  • 4. ปริตตาภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างอ่อน พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน (ปริตตะ แปลว่า น้อย อาภา แปลว่า รัศมี ความสว่าง) พรหมชั้นนี้มีอายุ 2 มหากัป
  • 5. อัปปมาณาภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างกลาง พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีหาประมาณมิได้ พรหมชั้นนี้มีอายุ 4 มหากัป
  • 6. อาภัสสราภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ทุติยฌานอย่างแก่ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีแผ่ซ่าน ออกมาจากร่างกาย มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่ เป็นไปด้วยอำนาจของปีติอยู่เสมอ จิตใจจึงมี ความผ่องใสมากอยู่เสมอ ส่งผลให้กายผ่องใสจนปรากฏออกมาเป็นรัศมีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย พรหมชั้นนี้ มีอายุ 8 มหากัป

พรหมที่มีรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากร่างกาย มีความยินดีในฌานของตนอย่างเต็มที่

 5.3.3 ตติยฌานภูมิ 3

     เป็นสถานที่อยู่ของผู้ที่ได้ตติยฌาน สถานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ระดับเดียวกัน สูงขึ้นไปกว่าชั้นทุติยฌาน-ภูมิ ประกอบด้วย ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ สุภกิณหาภูมิ

  • 7.ปริตตสุภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างอ่อน พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีสวยงามเช่นเดียวกับรัศมีของดวงจันทร์ เป็นความสว่างที่ไม่กระจัดกระจายออกจากกัน รัศมีรวมกันอยู่เป็นวงกลม แต่ยังสวยงามน้อยกว่าพรหมที่อยู่เบื้องบน พรหมชั้นนี้มีอายุ 16 มหากัป
  • 8.อัปปมาณสุภาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างกลาง พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีสวยงามหาประมาณมิได้ พรหมชั้นนี้มีอายุ 32 มหากัป
  • 9.สุภกิณหาภูมิ เป็นสถานที่อยู่ของพรหมที่ได้ตติยฌานอย่างแก่ พรหมที่อยู่ในชั้นนี้มีรัศมีสวยงามตลอดทั่วร่างกาย พรหมชั้นนี้มีอายุ 64 มหากัป

Complete and Continue